xs
xsm
sm
md
lg

สภาสตรีจับมือพช. รณรงค์สตรีเมืองแพร่ใส่ผ้าไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานสภาสตรีฯร่วมจับ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ทำMOU กับพ่อเมืองแพร่ รณรงค์สตรีเมืองแพร่ใส่ผ้าไทย ร่วมสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน มุ่งหวังช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

วันนี้(28 ธ.ค.)ที่โรงแรมแม่ยมพาเลส อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ขับเคลื่อนโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน กับจังหวัดแพร่ นำโดย นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดแพร่ ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ผ้าไทยประยุกต์ จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับสากลที่ออกแบบและผลิตโดยคนแพร่ จำนวน 14 แบรนด์ อาทิ อัญชิ กฤษณะ เลอโซเลย์ เป็นต้น ทำให้เห็นถึงความสวยงาม น่าสวมใส่ และใส่ได้ทุกวัน ทุกโอกาส

นางวันดี กล่าวว่า ภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์กิจกรรมหลักจะเป็นเรื่องของสตรี มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาชีพสืบสานโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เมื่อได้ทำโครงการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ทำให้เข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นงานทรงคุณค่าและเป็นงานภูมิปัญญาที่สืบทอดสู่รุ่นหลานดังนั้นหาก 35 ล้านคน หันมาใส่ผ้าไทยก็จะสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน สืบสานภูมิปัญญาในวันนี้จังหวัดแพร่ได้จัดงาน 1191 ปี คือสิ่งที่สืบทอดจากบรรพบุรุษที่ต้องรักษาไว้อย่างยิ่ง

ด้านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่าสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวงทรงรื้อฟื้นผ้าไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ทรงให้ชาวบ้านทอผ้าเพื่อไปตัดชุดฉลองพระองค์และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าผ้าและส่งเสริมพัฒนาฝีมือและจัดประกวดการทอผ้าทำให้พวกเราได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านให้ตระหนักถึงความเป็นตัวตนของคนไทยผ่านการทอผ้าดังเช่น การส่วนใส่ผ้าหม้อฮ้อมของคนแพร่ ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนดังนั้นเราต้องร่วมมือกันในการเชิญชวนภาคีเครือข่ายในจังหวัดร่วมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในการร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย หากคนไทย 35 ล้านคนใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้นคนละ 10 เมตร เมตรละ 300 บาท จะสร้างรายได้ 105,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวนั้นจะกระจายถึงคนในชุมชนและอีกหลายชีวิต จะทำให้เศรษฐกิจของชาติเกิดการหมุนเวียนเกิดความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มรวมทั้งแสดงถึงการมีวัฒนธรรมที่ดีงาม จังหวัดแพร่มีศิลปินแห่งชาติคนสำคัญได้แก่ แม่ประนอม ทาแปง ท่านมีส่วนช่วยทำให้งบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับงบประมาณในการพัฒนางบโอทอป ในปี 2563 อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จังหวัดแพร่มีผ้าหม้อฮ้อม อันเป็นสีเดียวกับกรมการพัฒนาชุมชน ผมคงต้องสั่งซื้อผ้าหม้อฮ้อมแล้วใส่ตรากรมการพัฒนาชุมชนให้เจ้าหน้าที่ใส่ทำงานสัก 1 วัน โดยจะคัดเลือกร้านที่มีกำลังการผลิตและจะคัดเลือกแบบอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้กล่าวต้อนรับว่าจังหวัดแพร่มีความยินดี ที่ได้รับเกียรติจากสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชนที่ให้เกียรติมาเยี่ยมจังหวัดแพร่และจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ในวันนี้ จังหวัดแพร่มีทรัพยากรไม้สักทองที่สวยที่สุด มีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์และมีผ้าหม้อฮ้อมที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาให้กว้างไปสู่ความเป็นสากล ในโอกาสนี้ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย จนเกิดโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินครั้งนี้

ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงความความร่วมมือ ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน จังหวัดแพร่” ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยอันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ทั่วโลกได้ชื่นชม อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งทุกคนได้มีส่วนร่วมสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และที่สำคัญเพื่อเป็นสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น