xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดของขวัญโอทอป รุ่ง หรือร่วง ผ่านมุมมองผปก.งาน OTOP CITY ปลายปี 62

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียงสะท้อนผปก.โอทอป ตายสนิท หลังยอด OTOP CITY ตกวูบ


การจัดงาน OTOP CITY ที่จัดขึ้นที่เมืองทองธานี โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นงานใหญ่ ที่ผู้ประกอบการโอทอปรอคอยและคาดหวังจะมาโกยเงินสร้างรายได้กันในงานนี้เลยทีเดียว และทุกปีที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะผู้ประกอบการโอทอปที่เข้าร่วมออกบูทในแต่ละครั้ง จะมีรายได้ตั้งแต่ หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางราย จะใช้เวลาในการทำชิ้นงานตลอดทั้งปี เพื่อที่จะนำมาขายในงานโอทอปซิตี้เพียงแค่ปีละ 2 ครั้ง โดยที่ไม่ได้มีช่องทางการขายที่อื่น เพราะรายได้ที่มากถึงหลักหลายแสน ถึงหลักล้าน และรายได้จากลูกค้าที่สั่งทำหลังจบงานทำให้ผู้ประกอบการโอทอปเหล่านั้น สามารถอยู่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการโอทอปที่ผ่านการคัดสรร และได้เป็นโอทอประดับตั้งแต่ 3- 5 ดาว ได้รับเลือกให้มาร่วมออกบูทครั้งละ2,000ถึง 2,500 ราย หรือประมาณ 20,000 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการโอทอปที่มีอยู่ทั่วประเทศที่ผ่านการคัดสรรประมาณ 11,534 ราย ทุกคนตั้งความหวัง และคอยการจัดงานใหญ่ หรือ โอทอปซิตี้ ที่เมืองทองธานี โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ตั้งเป้ายอดขายตลอดระยะเวลาการจัดงาน 9 วัน ไว้สูงถึง 1,400 ล้านบาท และตัวเลขในหลายครั้งที่ผ่านมาก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับปีนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าใครได้มีโอกาสไปเดินงานโอทอปซิตี้ เมืองทองธานี ครั้งนี้ และได้ฟังเสียงของผู้ประกอบการโอทอปในงาน ต้องบอกเลยว่า ยอดขายที่ทางกรมการพัฒนาชุมชนพยายามจะบอกเล่า สื่อถึงคนทั่วไป ถึง 1,400 ล้านบาท ดูแล้วน่าจะห่างไกล จากยอดขายที่ผู้ประกอบการได้รับจริงมาก ครั้งนี้ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้ประกอบการในงาน หลายคนต่างบอกกันเป็นเสียงเดียว กันเลยว่าปีนี้ยอดขายตกลงไปมาก ไม่ต้องพูดถึงหลักแสนหลักล้าน หรือเท่ากับปีก่อน แค่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ยังลำบาก

“นายสิทธิพงษ์ อ่อนเทศ” เจ้าของเบญจรงค์ กันตะ
ตกเหลือวันละหลักร้อยจนไม่กล้าแจ้งยอดจริงเจ้าหน้าที่



กันตะเบญจรงค์ จ.สมุทรสาคร “นายสิทธิพงษ์ อ่อนเทศ” เจ้าของผลิตภัณฑ์ เล่าว่า ทางกลุ่มได้รับเลือกให้ร่วมออกงานโอทอปซิตี้ สลับกับกลุ่มผู้ผลิตเบญจรงค์อื่นในพื้นที่ มาตั้งแต่ปี 2546 โดยแต่ละครั้งที่ได้ร่วมออกบูท ในงาน OTOP CITY มีรายได้ตลอดการจัดงาน ไม่ต่ำกว่า หลักแสนบาท ยอดขายต่อวันประมาณ 1-2 หมื่นบาท แต่ในปีที่ผ่านมา รายได้เริ่มลดลงเรื่อย แต่พอมาปีนี้ แย่ลงไปกว่าปีที่ผ่านมาอีกหลายเท่า

“การได้ร่วมออกบูทงาน OTOP CITY 2019 ความหวังสุดท้ายก็ดูเหมือนจะมืดมน เพราะผ่านมา 5 วัน แต่ละวันไม่กล้าแจ้งยอดขายกับเจ้าหน้าที่ เพราะบางวันขายได้หลักร้อยบาท ก็ต้องเมคแจ้งยอดไป 5,000 บาท ปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่แย่ที่สุด เพราะขนาดตั้งใจมาแล้ว ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตั้งเป้ามาต่ำๆ แล้ว แต่ในความจริง ต่ำกว่าเป้าอีก ความหวังรายได้หลักแสน ดูเหมือนจะห่างไกล ขอแค่หลักหมื่น ไม่ต่ำกว่า 50,000บาท ก็พอใจแล้ว”

สำหรับกลุ่มกันตะเบญจรงค์ เป็นผู้ผลิตเบญจรงค์ ที่ได้รับการคัดสรรในระดับ 5 ดาว ของอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เดิมเปิดขายที่หน้าบ้านและเป็นแหล่งผลิตด้วย ตลาดหลัก คือ การขายส่งให้กับตัวแทนนำไปวางจำหน่ายตามศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยว




“ทองสุโขทัย” ยอดสูงสุดโอทอปซิตี้ 12 ล้านบาท
วันนี้ห่างไกลยอดนี้มาก

บ้านทองสมศักดิ์ ผู้ผลิตทองโบราณ หรือ ทองสุโชทัย จากจังหวัดสุโขทัย โดย “นายสมศักดิ์ วงศ์ใหญ่” เจ้าของร้าน ต้องบอกว่าร้านนี้ เป็นหนึ่งในร้านที่เคยทำรายได้สูงสุดในงานโอทอปซิตี้ ที่เมืองทองธานี ติดต่อกันมาหลายครั้ง เพราะด้วยฝีมือในการทำทอง ที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์ของทองสุโขทัยที่ขึ้นชื่อ ที่สำคัญได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดโอทอป ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดสุโขทัย ทำให้ทองสุโขทัย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทุกปีในงานโอทอปซิตี้

สำหรับยอดขายทองสุโขทัย ของร้านบ้านสมศักดิ์ ทุกปีที่ผ่านมา “นายสมศักดิ์” บอกว่ายอดขายหลักล้านทุกปี โดยยอดขายสูงสุดที่เคยทำได้ประมาณ 12 ล้านบาท และต่ำสุดที่ขายประมาณ 7-8 ล้านบาท แต่สำหรับในปีนี้ ต้องบอกว่า เกินคาดหมายจริง แต่ไม่ใช่ยอดขายสูงสุดเกินคาดหมาย แต่ยอดขายต่ำกว่าที่เกินคาดหมาย จนไม่กล้าตั้งเป้ายอดขาย เพราะผ่านมา 5 วัน ยอดขายเพียงหลักล้านต้นๆ คิดว่าปีนี้ น่าจะเป็นปีที่ยอดขายต่ำที่สุดที่เคยร่วมออกร้านงานโอทอปซิตี้


ทั้งนี้ “นายสมศักดิ์” ทำทองมาได้ประมาณ 25 ปี เดิมทำอาชีพค้าขายของเก่าโบราณมาก่อน เพราะที่จังหวัดสุโขทัยมีของเก่าเยอะมาก ต่อมาได้ทดลองนำเอาทองมาทำใหม่ ให้มีลวดลายคล้ายทองโบราณ แล้วเอาไปวางขายข้างของเก่าโบราณชิ้นอื่นๆ ของทางร้าน ปรากฎว่า ได้รับการตอบรับดีมาก เป็นแรงบันดาลใจให้ “นายสมศักดิ์” หันมาทำทองเก่าโบราณ และยึดเป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งที่มาของทองโบราณสุโขทัย เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวบ้านตำบลท่าชัย และตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย



“นายเอกลักษณ์ บาลโครตขุน” เทรดเดอร์ สกลนคร
กลุ่มเทรดเดอร์ จังหวัดสกลนคร คาดยอดขายทั้งปี “โอทอปสกล” ตกกว่า 50%

จากการที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มเทรดเดอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยการกระจายสินค้าโอทอป ไปยังทุกพื้นที่ของประเทศไทย ดังนั้น การจัดงาน OTOP CITY ทางกรมฯ จะจัดพื้นที่ให้ เทรดเดอร์แต่ละจังหวัดได้นำสินค้าของตนเองที่รับซื้อมาจากชาวบ้านมาจำหน่าย เพราะถ้าจะให้โอทอปทุกรายมาจำหน่ายก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะด้วยพื้นที่จำกัด ดังนั้น คนที่ไม่ได้มาก็ได้ขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองผ่านเทรดเดอร์

“นายเอกลักษณ์ บาลโครตขุน” เทรดเดอร์ สกลนคร กล่าวว่า สำหรับเทรดเดอร์ ของจังหวัดสกลนคร เป็นตัวแทนจำหน่าย สินค้า 4 หมวด ประกอบไปด้วย ผ้าย้อมคราม ตัดเย็บออกมาเป็นเสื้อผ้า และของแต่งบ้าน ของขวัญ ของฝาก น้ำหมักไวน์หมากเม่า และ โคขุนโพนยางคำ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของชุมชนในจังหวัดสกลนคร ที่ผ่านมา เทรดเดอร์ทำหน้าที่ในการนำสินค้าไปร่วมออกบูทในงานโอทอป ที่จัดทั่วประเทศ ซึ่งการออกงานแต่ละครั้งมีรายได้วันละ 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท จบงานมีรายได้หลักล้านบาท ถ้าเป็นการจัดงานใหญ่ที่เมืองทองธานี ที่ผ่านมาช่วงปลายปี จะทำยอดขายไม่ต่ำหลักล้านบาท ไปจนถึงหลายล้านบาท

สำหรับการจัดงานปลายปี 2562 นี้ ทางกลุ่มตั้งความหวังมาพอสมควร แต่ก็ต้องบอกว่าไกลจากเป้าหมาย ยอดตกไปประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการจัดงานในปีก่อน แต่ต้องดูว่า ช่วงเสาร์ อาทิตย์นี้ ว่า ยอดขายจะขยับขึ้นมาได้เท่ากับเป้าหมายวางไว้หรือไม่ แต่คงไม่เท่ากับยอดขายในปีก่อน แต่จะตกไปเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่สามารถวัดได้



ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านยางตลาด
ต่อชีวิตชุมชนหลังเจอภัยแล้ง


สำหรับกลุ่มทอผ้าใหมบ้านยางตลาด อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม เป็นกลุ่มทอผ้าไหม ที่เป็นงานทอมือ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา แม้จะฝีมือการทอแบบชาวบ้าน แต่ผลงานได้ไปโชว์บนเวทีระดับสากลมาแล้ว ซึ่งเคยได้รับรางวัลระดับอาเซียนมาแล้ว และการันตีด้วยการเป็นโอทอป 5 ดาว ระดับประเทศ มาแล้วหลายสมัย

ทั้งนี้ ต้องบอกว่า สินค้าโอทอปที่ได้ความนิยมสูงสุดในงานโอทอปซิตี้ ต้องยกให้ สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า โดยเฉพาะผ้าไหม เป็นสินค้าโอทอปที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทำให้ในทุกปี จะได้เห็นเสื้อผ้า ผ้าไหม มาออกร้านขายในงานโอทอปซิตี้กันเป็นจำนวนมาก ทางกรมการพัฒนาชุมชน คาดหวังยอดขายในกลุ่มเสื้อผ้าไว้สูง เป็นอันดับต้นๆ ที่ทำรายได้หลักหลายร้อยล้านบาทในแต่ละครั้ง และครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกัน

ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านยางตลาด เล่าว่า การทอผ้าไหม เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้าน ใช้เวลาช่วงว่างจากการทำนา มาทอผ้า ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 13 คน ผ้าทอที่ได้ใช้เวลาทอกันทั้งปี เพื่อนำมาจำหน่ายในงานโอทอปซิตี้ ดังนั้น การได้ออกงานโอทอปซิตี้ เหมือนเป็นความหวังของเรา และชาวบ้านที่จะมีรายได้ กลับไปเลี้ยงชีพ แต่ด้วยเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ทำให้ความคาดหวังว่าจะขายผ้าได้สัก 40-50 ผืน ก็ดูเหมือนจะเลือนลาง


จากในอดีต ทุกครั้งที่ “ป้า” ออกงานโอทอป สามารถขายผ้าได้มากถึงวันละ 20-30 ถุง (ราคาผ้าไหมถุงละ 2,500-5,000 บาท) แต่การจัดงานครั้งนี้ผ่านมา 5 วัน ป้ายังขายผ้าได้ไม่ถึง 10 ถุง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ต้องบอกว่า ชีวิตป้าและสมาชิกลำบากมาก เพราะป้าคาดหวังรายได้ จากการขายผ้าครั้งนี้ มาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ ป้าและคนในกลุ่มอาชีพทำนา แต่ผลผลิตได้น้อยมาก เพราะเจอปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตที่ได้จากการทำนาก็ไม่ได้ และมาเจอกับยอดขายผ้าที่ตกไปเยอะ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร



“นางสาวไวริญญ์ ม้าทอง” (เนย)  เจ้าของ MANTRA CRAFTS
YOUNG OTOP ดีเกินคาดกับการออกงานครั้งแรก

MANTRA CRAF ผู้ประกอบการในกลุ่มYOUNG OTOP ที่ได้รับการคัดเลือกร่วมออกงานครั้งแรก ผลงานของ MANTRA คือการสร้างงานศิลปะบนผืนผ้าในรูปแบบของานสร้างลวดลายผ้าบาติก ที่แตกต่างจากผ้าบาติกที่ขายตามท้องตลาดเพราะเป็นลวดลายที่เกิดจากผสมผสานลายผ้าบาติกดั้งเดิมกับงานศิลปะ และทำบนผ้าฝ้ายทอมือ จากจังหวัดเลยแหล่งผลิตผ้าฝ้ายที่สำคัญของประเทศไทย

“นางสาวไวริญญ์ ม้าทอง” (เนย) สาวน้อยเจ้าของกิจการในวัย 20 ปีต้นๆ เล่าถึงการได้นำผลงานร่วมออกงานโอทอปในครั้งนี้ ว่า เป็นความภาคภูมิใจ ที่ผลงานของเราสามารถได้รับการคัดเลือกมาร่วมออกงานโอทอประดับประเทศในครั้งนี้ เพราะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผู้ประกอบการโอทอป ซึ่งผลตอบรับสำหรับตัวเองกับการออกงานครั้งแรก ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ มีลูกค้าให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ผ้าของเราเป็นอย่างมาก เพราะด้วยลวดลาย ถ้าคนที่ชื่นชอบผ้าจะรู้ว่าเป็นลวดลายที่ซับซ้อน ใช้เทคนิคการมัดย้อมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เป็นการยกระดับผ้ามัดย้อมอีกขั้นหนึ่ง





อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการโอทอป ต่อการคาดหวังรายได้ส่งท้ายปี ดูเหมือนจะชวด เหมือนกับปีชวดที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ แต่ผู้ประกอบการเอง ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลที่จะนำพาเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักได้เหมือนเดิม


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น