ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ แจงตั้ง กมธ.เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรค ทุกพรรคเป็นคนเสนอชื่อเข้ามา หากพบความผิดส่ง สตง.- ป.ป.ช. ขณะที่ “ไกลก้อง” จ่อรื้อวางท่อร้อยสาย ความยาวกว่าหมื่นเมตร ครอบคลุมอาคารรัฐสภาทั้งหมด หลังล่าช้า ด้าน “วิลาศ” พลิ้ว พท. ให้โอกาสมากกว่า ปชป. อ้างมีข้อมูลเยอะ
วันนี้ (24 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ครั้งแรก และมีการพิจารณาเลือกตำแหน่งต่างๆ จำนวน 22 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานกรรมาธิการ คือ นายอนันต์ ผลอำนวย ส่วนรองประธาน 4 คน ประกอบด้วย นายสมคิด เชื้อคง นายศุภชัย ใจสมุทร นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ และ นายฐิตินันท์ แสงนาค ขณะที่ นายนายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ร่วมเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้วางกรอบการดำเนินงาน โดยเป็นการพิจารณาภาพรวมการก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ในประเด็น เช่น แบบการก่อสร้าง ข้อกำหนด TOR การทำสัญญา เงื่อนไขของการต่ออายุสัญญาทั้ง 4 ครั้ง และการป้องกันเหตุแห่งการต่ออายุสัญญาครั้งต่อไป ความคืบหน้าการก่อสร้างในปัจจุบัน ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี และระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
นายอนันต์ ผลอำนวย ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรรมาธิการบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ว่า การตั้งใครเข้ามาถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรค ส่วนจะสอดไส้ใครเข้ามาหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะทุกพรรคเป็นคนเสนอชื่อเข้ามา แต่กรรมาธิการทุกคนที่เข้ามาต้องเข้ามาทำหน้าที่สอบสวน ให้เกิดความโปร่งใส รวดเร็ว และหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตนเชื่อว่า การประชุมของคณะกรรมาธิการ ประมาณ 5-6 ครั้ง เราจะได้ข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่เพียงตรวจสอบว่า ปัญหาอุปสรรคความล่าช้าเกิดจากอะไร แต่หากผลการพิจารณาพบว่ามีความไม่โปร่งใส ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งการทำงานของ กมธ. จะเป็นไปตามข้อเท็จจริง โดยไม่มีใครที่สามารถโน้มน้าวผลให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้
ขณะที่ นายไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะโฆษก กมธ. และ ประธานคณะอนุ กมธ. ด้านระบบสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า อนุ กมธ. ได้พิจารณารายละเอียดแล้วหลายครั้ง ซึ่งประเด็นสำคัญที่ได้ และเตรียมเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภา ฐานะผู้รับจ้าง คือ การเร่งรัดงานโดยเฉพาะในส่วนการหาผู้รับจ้างส่วนของการวางท่อร้อยสาย ซึ่งมีความยาวกว่าหมื่นเมตร ครอบคลุมอาคารรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างหลักที่ต้องรื้อส่วนงานของโครงสร้างหลัก เพื่อจัดวางการร้อยสาย ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานในส่วนดังกล่าวไม่กระทบกับระยะเวลาของการก่อสร้างในโครงสร้างหลัก ที่ทำให้ต้องมีการขยายสัญญาอีกในรอบที่ 5 โดยความคืบหน้าของงานระบบไอซีที ล่าสุด คืบหน้า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์
ด้าน นายวิลาศ กล่าวว่า เหตุที่ตนชื่อไปเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ เพราะ นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยร่วมงานกันมาติดต่อมาว่าจะขอเสนอชื่อตนให้เข้ามาร่วมในกรรมาธิการชุดนี้ด้วย โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีใครทราบข้อมูล และติดตามเรื่องนี้ได้ลึก และต่อเนื่องเท่าตน ซึ่งตนก็ยินดี และขอให้เข้าใจว่า งานของคณะกรรมาธิการไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคต้นสังกัด เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ตนเป็นกรรมาธิการชุดนี้ แต่พรรคการเมืองอื่น มองว่า ตนมีประสบการณ์และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบเพื่อส่วนรวม และเชิญตนมาร่วมก็สามารถทำได้ เพราะเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ที่สามารถเชิญคนนอกที่มีข้อมูลความรู้ ความสามารถ ซึ่งไม่เป็น ส.ส.ก็ได้