xs
xsm
sm
md
lg

"วัชระ" โวยผู้ถูกสอบสร้างรัฐสภา แห่นั่งกมธ.สอบตัวเอง ชี้ชัดขัดกันแห่งผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีตส.ส.ปชป. ตั้งข้อสังเกตรายชื่อกมธ.สอบสร้างรัฐสภา ตั้งพรรคพวกคนถูกสอบ ยกรธน.ชี้ต้องไม่เกี่ยวข้อง ขัดกันแห่งผลประโยชน์ แถมชื่อผู้ถูกสอบกลับเป็นนั่งเป็นกก.เสียเอง ชี้ชัดไม่เป็นธรรม

วันนี้ (24ธ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการเสนอชื่อกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 12 คนที่เสนอมานั้น เป็นที่น่าสงสัยมาก เพราะมีการตั้งผู้ที่จะถูกสอบสวนหรือลูกน้องผู้ถูกสอบสวนมานั่งเป็นกรรมาธิการด้วย ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสภาไทย

นายวัชระ ยังยกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 วรรคสองบัญญัติให้คณะกรรมาธิการ มีหน้าที่ในการกระทำกิจการ สอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ตามหน้าที่และอำนาจ แล้วรายงานให้สภาทราบ โดยหลักของการสอบหาข้อเท็จจริง ผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริง ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือ ในภาษากฎหมายเรียกว่า การขัดกันแห่งผลประโยชน์ และที่ร้ายแรงที่สุดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการสอบข้อเท็จจริงคือ ผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริงเป็นคนๆเดียวกัน เพราะจะทำให้ผลการสอบข้อเท็จจริงจะไม่เกิดความชอบธรรมหรือความจริงแน่นอน

ทั้งนี้ ในการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีผู้ที่ควรจะถูกสอบข้อเท็จจริง แต่กลับเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ เสียเอง คือ
1. นายสุชาติ โรจน์ทองคำ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และในอีกฐานะหนึ่งคือ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง (ตรวจรับ) งานก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ในการพิจารณาตรวจรับงานการก่อสร้าง และให้ความเห็นชอบในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ และงาน ICT งานสาธารณูปโภคฯ ตลอดจนงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการอำนวยการก่อสร้างในภาครวม และต้องรับผิดชอบโดยตรง หากปรากฏว่า การขยายเวลาก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ

2.นายพินิจ พูลเกิด ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างฯ CAMA เป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการให้คำปรึกษา ประสานงาน รวมทั้งให้ความเห็นในการพิจารณาการขยายระยะเวลาการก่อสร้างฯ รวมถึงงาน ICT งานสาธารณูปโภค และงานอื่นๆ ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาฯ และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหากปรากฏว่า การขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ

3.นายพงศ์กิตต์ อรุณภักดีสกุล และนางปัณณิตา สะท้านไตรภพ ข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีนายนัท ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้บังคับบัญชาของนายพงศ์กิตต์และนางปัณณิตา ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่บุคคลทั้งสองได้โดยตรง ทั้งนี้ สถานะของนายนัท ผาสุข ย่อมส่งผลโดยตรงกับความเห็นของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน

นายนัท เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างฯ และเป็นกรรมการบริหารการก่อสร้างฯ ซึ่งได้รับทราบและไม่คัดค้านผลของการขยายระยะเวลาการก่อสร้าง และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การขยายระยะเวลาการก่อสร้างเป็นไปโดยมิชอบ ดังนั้น ความเห็นของบุคคลทั้งสองในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

ดังนั้น ด้วยเหตุผลโดยประจักษ์ดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ความเห็นของบุคคลทั้ง 4 ในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการก่อสร้างอาคารรัฐสภา จึงมีลักษณะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างชัดเจน และมีลักษณะอันไม่เป็นธรรม เนื่องจาก ผู้สอบข้อเท็จจริงกับผู้ถูกสอบข้อเท็จจริง เป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นายพินิจ พูลเกิด ที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างในกลุ่มบริษัทCAMA เพิ่งชี้แจงเห็นด้วยกับการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วันคู่กับนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาแล้วคณะรัฐมนตรีกลับมาเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการได้อย่างไร และยังน่าสงสัยด้วยว่านายสรศักดิ์เซ็นอนุมัติการขยายเวลาย้อนหลังว่าขยายเวลาวันที่ 4 ธันวาคมตอนค่ำๆ แต่นายสรศักดิ์มาแถลงกับสื่อมวลชนในวันที่ 10 ธันวาคม ขนาดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ 9 ธันวาคมว่ายังไม่ได้รับรายงานเรื่องการขยายสัญญาครั้งที่ 4 หากนายสรศักดิ์เซ็นขยายสัญญาครั้งที่ 4 ในวันที่ 4 ธันวาคมตอนค่ำจริง เหตุใดจึงไม่รีบรายงานให้ประธานสภาฯทราบและทำไมไม่เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันนั้นกลับมาแถลงย้อนหลังในวันที่ 10 ธันวาคมหลังจากที่มีการคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างจากนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธาน ปปช.สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง และรีบอนุมัติขยายสัญญาก่อนหมดอายุในวันที่ 15 ธันวาคมถึง 11 วันโดยสำนักกฎหมาย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของฝ่ายพัสดุ สำนักการคลังแต่ประการใด ช่างแปลกประหลาดจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น