“ชูวิทย์” อ่านขาด “การเมืองของพรรคอนาคตใหม่” ชี้เปรี้ยง “ฮีโร่” มีมาทุกยุค แต่แล้วสถานการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน “ฮีโร่” ก็เปลี่ยน บทเรียน “การเมืองเปลี่ยนคน” มากกว่า “คนเปลี่ยนการเมือง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(17 ธ.ค.62) เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความ หัวข้อ “การเมืองของพรรคอนาคตใหม่”
โดยระบุว่า มีวิธีการเล่นการเมืองไทยหลายแบบ ในอดีตบางคนอาจเห็นลีลาของคุณสมัคร ถือเป็นนักเลงการเมืองรุ่นลายคราม ที่เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 40 ไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งสูงสุด นายกรัฐมนตรี
คุณบรรหาร ฉายามังกรการเมือง ที่พลิ้วเพื่อชาติ จนถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
จวบจนคุณทักษิณ ที่คะแนนถล่มทลาย ชนะขาด กลายเป็นพรรคใหม่ที่ได้เสียงเกินครึ่งสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
แต่บทสุดท้าย ผิดถูกอย่างไร อยู่ที่แต่ละคนจะเชื่อ ที่แน่ๆ ไม่ได้กลับเมืองไทย
ผมไม่ได้ต่อต้านคุณธนาธร เช่นเดียวกับเวลาที่ผมพูดถึงคุณอภิสิทธิ์ ตอนอยู่พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่คุณสุเทพ ตอนอยู่ กปปส.
แต่ผมมองโลกจากที่ผ่านประสบการณ์การเมือง ไม่ได้ชื่นชมใครอย่างทุ่มเท เพียงเพราะอ้างอุดมการณ์ที่หอมหวน เรียกร้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้ประชาชน หรือเป็นฝ่ายค้านต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ
เพราะผมเห็นการเมืองมามากพอ และรู้จักคำพูดของนักการเมืองดี
หลายคนที่เคยชื่นชมคุณสุเทพ ตอน กปปส. ไล่เป่านกหวีด ปฏิรูปการเมืองไทย วันนี้อาจเปลี่ยนใจ บอกว่ามองผิดไป เช่นเดียวกับคุณทักษิณที่เคยเลือกเพราะอยาก “เปลี่ยนการเมืองไทย”
แต่ที่ผ่านมา ประชาชนกลับเห็น “การเมืองเปลี่ยนคน” มากกว่า “คนเปลี่ยนการเมือง”
เหมือนคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย มีความใฝ่ฝันที่แจ่มจรัส อยากออกไปเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ต่อมา ความฝันก็ถูกห้อมล้อมด้วยความจริง
คนรุ่นเก่าอย่างผมไม่ได้มองคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าเป็นศัตรู เหยียดหยัน ไม่ให้โอกาสแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผมกลับเข้าใจหัวใจในการต่อสู้ที่มุ่งมั่น ไม่ท้อถอย เป็นตัวของตัวเองสูง
ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลย เพราะผมเคยผ่านวันเวลา และวัยนั้นมาก่อน
แต่ในอดีตวงจรการเมืองไทย จะมีนักการเมืองใหม่ ในสถานการณ์ใหม่ เสนอตัว “เปลี่ยน” ประเทศไทยเสมอ
เราให้โอกาสนักการเมืองเหล่านั้นทุกครั้ง เพราะธรรมชาติของคนชอบลองของใหม่ ใครจะไปสนใจของใช้แล้ว
สังคมไทยต้องการฮีโร่ ทว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป ฮีโร่ของเรา ก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย
อย่างที่เขาบอกว่า “คนที่ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ มักทำผิดพลาดซ้ำรอยเสมอ”
สำหรับ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ คนรุ่นใหม่ถ้าไม่ศึกษาประวัติชีวิตของเขา อาจไม่รู้ว่าโชกโชนมาแค่ไหน
ข้อมูลจากวิกิพีเดียบางส่วน ชูวิทย์ เป็นที่รู้จักในกลางปี 2546 เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่าหายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะมีคดีรื้อบาร์เบียร์ที่ ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นคดีที่มีคู่ความเป็นตำรวจนครบาล ไม่กี่วันต่อมาชูวิทย์ก็ปรากฏตัวข้างถนน ย่านชานเมืองแห่งหนึ่ง ด้วยสภาพอิดโรย มีการนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อร่างกายเริ่มฟื้นแล้ว ชูวิทย์ได้แฉว่า ถูกตำรวจกลุ่มหนึ่งอุ้มตัวไป
จากนั้นชูวิทย์ ก็ปรากฏเป็นข่าวมาตลอด เมื่อเจ้าตัวเริ่มแฉ ถึงพฤติกรรมการทุจริตต่างๆ ของตำรวจ เช่น การรีดไถ่ การรับส่วย เป็นต้น จึงทำให้เป็นจุดสนใจของสังคมในระยะนั้น
โดยบุคลิกขณะนั้นเป็นไปอย่าง ดุดัน ดุเดือด จริงจัง แต่หลังจากนั้นแล้ว ชูวิทย์เริ่มมีท่าทีที่เปลี่ยนไป กลายเป็นบุคคลที่สนุกสนานเฮฮา ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งการแฉถึงเรื่องราวการทุจริตต่างๆ ในสังคม ทำให้เป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนเป็นจำนวนมาก
ในทางการเมือง ชูวิทย์ก้าวสู่วงการเมือง โดยขายหุ้นในอาบอบนวดทั้งหมด แล้วลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เบอร์ 15 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.47 ซึ่งตรงกับวันเกิดของตัวเอง แม้ไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนเสียงกว่าสามแสนคะแนน และได้คะแนนเป็นลำดับที่ 3
ต่อมาชูวิทย์นำพรรคต้นตระกูลไทย ที่ตนเองเป็นผู้ก่อตั้ง เข้าร่วมกับพรรคชาติไทย และรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย
จากนั้นลงสมัครเลือกตั้งทั่วไปพ.ศ. 2548 เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทย แต่ต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยไม่ครบ 90 วัน จึงพ้นจากความเป็น ส.ส.
ในพ.ศ. 2549 ชูวิทย์ลาออกจากพรรคชาติไทย เพื่อลงสมัครส.ว.กรุงเทพมหานคร แต่ก็ถูก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยระบุว่า ยังไม่พ้นจากสถานภาพ ส.ส. ครบกำหนด 1 ปี ก่อนที่จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาตามกฎหมาย
วีรกรรมที่น่าสนใจ หลังเข้าสู่พรรคชาติไทยแล้ว กรณี
เคยมีข่าวขัดแย้งกับ จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ส.ส.หญิงของพรรคชาติไทย โดยมีข่าวว่า จณิสตา ไม่ยอมรับในตัวชูวิทย์ ที่เคยประกอบธุรกิจอาบอบนวดมาก่อน จนได้รับฉายาว่า นักการเมืองฝีปากกล้า
ชูวิทย์มักจัดทำป้ายขนาดใหญ่ มีข้อความซึ่งเขากล่าวว่าสะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ชูวิทย์ประกาศว่าจะไม่ขอลงเลือกตั้งในปลายปี ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม หลังได้รับการจัดให้เป็นตัวแทนพรรค สมัครรับเลือกตั้งแบบรายชื่อเป็นลำดับที่ 2 ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยยกลำดับที่ 1 ให้กับพล.อ.อัครเดช ศศิประภา อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเชื่อว่าตนเองจะไม่ได้รับการเลือก
รวมทั้งได้โจมตีการบริหารพรรคของบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคด้วย หลังการเลือกตั้ง เมื่อพรรคชาติไทยจากเดิมที่อยู่คนละข้างกับพรรคพลังประชาชน ได้แสดงท่าทีจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับทางพรรคพลังประชาชน ชูวิทย์ก็ได้โจมตีบรรหารอย่างรุนแรงขึ้น
กระทั่งพ.ศ. 2551 ชูวิทย์ได้ลาออกจากพรรคชาติไทยมาลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ชูวิทย์ได้เบอร์ 8 หลังจากนั้นได้ดำเนินการหาเสียง โดยชูนโยบายการมองเห็นปัญหา และเน้นตรวจสอบการทำงานของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่น การก่อสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ที่เขตดินแดง การติดตามคดีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง เป็นต้น
นอกจากนี้ ชูวิทย์ ได้จดทะเบียนตั้งพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ชื่อ “พรรคสู้เพื่อไทย” มีสัญลักษณ์รูปกำปั้น มีสโลแกนว่า “แตกต่างแต่ไม่แตกแยก”
ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ตั้งพรรครักประเทศไทย มีสโลแกนว่า “ฉันรักคุณ”
โดยในการเลือกตั้งทั่วไปพ.ศ. 2554 ชูวิทย์ได้แถลงข่าวเปิดตัวพรรครักประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศว่าจะเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบรัฐบาล
การทำงานของชูวิทย์ในสภาในฐานะฝ่ายค้าน ชูวิทย์ทำหน้าที่อย่างโดดเด่น รวมทั้งรับหน้าที่รองประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แสดงจุดยืนในการเป็นฝ่ายค้าน เปิดเผยข้อมูล บ่อนการพนัน สถานอบายมุข อันมีผลกระทบต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างมาก จนกระทั่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาตอบโต้ และมีวาทะพิพาทกันในสภาฯ จนทำให้ทั้งคู่ได้รับฉายาว่าเป็น "คู่กัดแห่งปี" ประจำปี 2555 จากสื่อมวลชน แม้ว่าทั้งคู่จะเคยมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 ชูวิทย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะเวลาเหลืออีกเพียงเดือนเศษจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา
แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างยังไม่คืบหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้รับเหมาทิ้งงาน สร้างได้แค่ฐานรากหรือตอม่อ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละโรงพัก
ส่งผลให้ต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำโครงการดังกล่าวเป็นประเด็นการเมือง กล่าวหารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้เซ็นสัญญาริเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 2553 และร้องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวน
8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติให้สมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยกพรรค นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชูวิทย์รักษาคำพูดโดยการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที โดยระบุว่าสภาทำงานต่อไปไม่ได้
ทั้งนี้ชูวิทย์เคยแถลงข่าวแนะให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคเพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชน และไปช่วยสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ลาออกไปเป็นแกนนำหลักประท้วงขับไล่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และหากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกยกพรรคตามที่ตนแนะนำจริง ตนและลูกพรรคจะลาออกตาม เป็นเหตุให้ชูวิทย์ลาออกตามสัญญา
จากนั้น 9 ธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป....
ดังนั้น ถือว่าโพสต์ของชูวิทย์ ต่อพรรคอนาคตใหม่ น่าคิดและทำความเข้าใจอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สถานการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน “ฮีโร่” เปลี่ยน
และที่สำคัญ ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สอนให้รู้ว่า “การเมืองเปลี่ยนคน” มากกว่า “คนเปลี่ยนการเมือง” พรรคอนาคตใหม่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ต้องจับตากันยาวไป