xs
xsm
sm
md
lg

"ผศ.ทวี" หวังออกแบบ รธน.ใหม่แก้ปัญหาดุลอำนาจด้วยรักสามัคคีไม่ใช่ความเกลียดชัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ผศ.ทวี" ชี้ที่ผ่านมาผู้เขียนรัฐธรรมนูญเอาผลประโยชน์พวกตัวเองเป็นที่ตั้ง หวังฉบับใหม่รับฟังประชาชนมากขึ้น แก้ปัญหาดุลอำนาจด้วยการออกแบบจากควมรักสามัคคี ไม่ใช่ทำด้วยความเกลียดชัง



วันที่ 10 ธ.ค. 62 ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ บนหลักสมดุลของอำนาจ"

โดย ผศ.ทวี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับว่าใครร่าง มักร่างเพื่อประโยชน์ของตัวเอง กรณีฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงกับบอกเลยว่าเขาไม่เอาเพราะต้องการอยู่ยาว จะเห็นว่าท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของการจัดการอำนาจ เขามองว่าถ้าปล่อยอำนาจให้นักการเมืองก็อันตราย ตนพูดได้เพราะเข้าไปเป็นกรรมาธิการพรราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมือง ตอนแรกก็นึกว่าจะมีอิสระในการทำงาน แต่พอเห็นแต่ละประเด็นที่เสนอก็งงเลย มีแต่การควบคุมพรรคการเมืองทั้งสิ้น ไปควบคุมกิจกรรมทางการเมืองเยอะมาก แล้วพูดอะไรก็ไม่ทำตามนั้น อย่างเช่นไพรมารีโหวต สุดท้าย คสช.ก็ออกคำสั่งให้ยกเลิกข้อนี้ไป

ผศ.ทวี กล่าวอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราไม่ได้มองร่วมกัน ตั้งแต่ปี 2475 คณะราษฎร์มองให้เรา แล้วหลายยุคต่อมาก็ยังเป็นแบบเดิม ผู้นำคิดแทนประชาชนหมด มีเพียงฉบับเดียวที่ฟังประชาชนคือฉบับปี 2540 นั่นคือฉบับปฏิรูปการเมือง ฉบับประชาชน ปฏิรูปการเมืองคือเป้าหมาย โดยดูจากปัญหาเก่าแล้วเอามาสร้างประเด็นเขียนรัฐธรรมนูญ

ผศ.ทวี กล่าวด้วยว่า หากถามตนว่าถ้าสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องการอะไร ประเทศเรามีปัญหาเรื่องการดุลอำนาจ ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 และ 2560 ก็พยายามทำแล้ว แต่ทำด้วยความเกลียดชังนักการเมือง แล้วให้ข้าราชการดูดีเกินไป สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ถ้าจัดดุลครั้งใหม่ต้องไม่ตั้งอยู่บนความเกลียดชัง ต้องออกแบบด้วยความรักสามัคคี

ต้องมีกระบวนการที่ดี คือให้เกียรติและไว้วางใจประชาชน เอาฉบับปี 40 เป็นต้นแบบ แต่ปรับแก้บางจุด ของปี 40 อาจดูแคบไปนิดในเรื่องการได้มาซึ่ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่สำคัญจะสำเร็จได้รัฐบาลต้องเป็นแม่งาน จะมาบอกว่าไม่ยุ่งไม่เกี่ยวไม่ได้ อย่างตอนปี 40 นายบรรหาร ศิลปอาชา ทุ่มสุดตัวเลย สั่งไปที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องให้ความร่วมมือ มันต้องใช้กลไกของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น