xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนผู้ตรวจราชการภาครัฐปี 63 สั่งบรรจุครั้งแรก “แผนรับการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศแม่น้ำโขง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแผนผู้ตรวจราชการ บูรณาการหน่วยงานภาครัฐปี 63 สั่งบรรจุครั้งแรก แผนรับการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศแม่น้ำโขงในอนาคต พ่วงขับเคลื่อนนโยบายสำคัญรัฐบาล “เกษตรสร้างมูลค่า-จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน-พัฒนาชุมชนเมือง-จัดการประมงอย่างยั่งยืน” พร้อมโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ

วันนี้ (16 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 361 /2562 เรื่องการตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ไว้ ณ วันที่ 6 ธ.ค. 2562 มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำเนินการตรวจราชการตามคำสั่ง ดังนี้

1. การตรวจราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจราชการ พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวง หรือผู้ตรวจราชการกรมที่ได้รับมอบหมาย ตรวจราชการตามแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้

1.1 การขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล (Issue) ประกอบด้วย การเกษตรสร้างมูลค่า, การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน, การพัฒนาชุมชนเมือง, การจัดการประมงอย่างยั่งยืน, การเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขง

1.2 การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อร้องเรียนของประชาชน หรือการผลักดันการดำเนินโครงการ/มาตรการสำคัญในเชิงพื้นที่ของส่วนราชการ หรือกรณีอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ หากการดำเนินการตรวจราชการตามข้อ 1.1 และ 1.2 เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงใด ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ตรวจราชการกรม ที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจติดตาม หรือแกไขปัญหา หรือผลักดันการดำเนินการดังกล่าว และรายงานนายกรัฐมนตรี ทราบหรือพิจารณา และให้จัดทำรายงานผลการตรวจราชการแบบบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายงานคณะรัฐมนตรีทราบและเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป

กรณีที่ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงหรือผู้ตรวจราชการกรม ที่เกี่ยวข้องพบประเด็นปัญหาสำคัญและจะต้องแกไขปัญหาโดยเร่งด่วน ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นำเสนอปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา แจ้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และรายงานนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอการรายงานผลตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการตรวจราชการ

2. การตรวจราชการตามมาตรา 34 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 โดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย ตรวจติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการบริหารงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

3. การตรวจติดตามงานอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมาย คือ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมปรึกษากับผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ตรวจราชการในส่วนงานราชการต่าง ๆ เพื่อหารือในการจัดทำแผนการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งการขับเคลื่อนการตรวจราชการแบบบูรณาการของผู้ตรวจราชการฯ โดยกำหนดกรอบการตรวจราชการดังนี้

“การเกษตรสร้างมูลค่า” เน้นการตรวจติดตามมุ่งไปที่ความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าในภาคการเกษตร อันนำไปสู่การประสบผลสัมฤทธิ์ตามแนวทางการเกษตรสร้างมูลค่า คือ การที่เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการทำเกษตรจากการดำเนินโครงการภายใต้ "แผนงานยุทธศาสตร์ การเกษตรสร้างมูลค่า” เช่น การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้า ตลอดจนมีการวางแผนการผสิพและการพลาดอย่างเป็นระบบ

“การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน” เน้นการตรวจติดตามไปที่การดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในเขตและรอบพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ รวมไปถึงการจัดที่ดินของรัฐให้แก่ผู้ยากไรัโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน

“การพัฒนาชุมชนเมือง” เน้นการตรวจติดตามไปที่การดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน และแนวทางการอนุรักษ์ และฟื้นฟูแม่นํ้าลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ

“การจัดการประมงอย่างยั่งยืน” เน้นการตรวจติดตามไปที่การทำเนินการทำการประมงให้เป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของภาครัฐ เพื่อการจัดการประมงอย่างยั่งยืน และการชดเชยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุแผนตรวจราชการเป็นครั้งแรก โดยให้เตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศของแม่น้ำโขงในอนาคตด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อร้องเรียนของประชาชน โดยกระบวนการ Government Innovation Lab ประกอบด้วย นโยบายสำคัญของรัฐบาล/แผนยุทธศาสตร์/แผนพัฒนาภาค, ข้อร้องเรียนจากประชาขนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ, การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล/การทำประชาคม และปัญหาเฉพาะพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น