ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ไม่ได้แย่อย่างที่คิด !? เครดิตเรตติ้ง S&Pปรับ Outlookของไทยดีขึ้น คลังแข็งแกร่ง -หนี้สาธารณะต่ำ แต่"เงินฝืด-ฐานราก" ยังเป็นงานท้าทาย "อุตตม"
การจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้เป็นอย่างไร แย่อย่างที่คิดกันหรือไม่ ?
ล่าสุด “อุตตม สาวนายน”รมว.คลัง เปิดเผย บริษัท S&P Global Ratings (S&P)ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทย จากระดับมีเสถียรภาพ (Stable)เป็นเชิงบวก (Positive)และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาว ที่ BBB+และ ระยะสั้นที่ A-2รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาว ที่ A-และระยะสั้นที่ A-2
ทำไมนักลงทุนต่างชาติถึงให้ความเชื่อมั่น เหตุที่ S&P ปรับเป็นบวกเพราะ มีปัจจัยด้านบวกจากการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง
S&Pเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และการมียุทธศาสตร์ชาติ ก็เป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี มีเสถียรภาพทางการเมือง ที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการบริหารงาน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ไป บริษัท S&Pประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย
ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และ บริษัท Moody's Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ เป็นเชิงบวก และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa 1 ตามลำดับ และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A-สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
ว่ากันว่า การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำต่างๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(PPP)ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต
แน่นอนว่า ความกังวลเรื่องที่ต้องตืดตามกันต่อ อย่าง สงครามการค้า ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ ก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ ปัจจัยภายใน สภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจฐานรากที่ต้องการโอกาส และ วิสาหกิจชุมชนที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่แท้จริงยังไม่หมุนเต็มที่
ต้องไม่ลืมว่า การส่งออก การผลิต กำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว แม้ “เศรษฐกิจไทยไม่ได้ถดถอย”แต่คนตัวเล็กตัวน้อย เกษตรกร พ่อค้า แม่ขาย ก็ควรต้องลืมตาอ้าปากได้
ฟังว่า รัฐบาลจะทยอยออกชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องอีก และพัฒนาให้ดูแลครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจฐานราก”เพราะการดูแล ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้จริงๆ งานนี้
ถ้าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เป็น "หัวใจของเศรษฐกิจยุคใหม่" จริงๆ มีอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งทำและทำอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไรที่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น นี่จึงจะช่วยให้ไทยเดินหน้าต่อไป และปีหน้าถ้ารัฐบาลออกมาตรการ เพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ “ฐานราก”อย่างครอบคลุม และทั่วถึง ก็น่าคิด
เครดิตเรตตี้งดีสะท้อนภาพ ตัวเลขดี แต่คงไม่พอ
งานท้าทายของ "อุตตม" ขุนคลังจึงยังต้องเข็นครกขึ้นภูเขา เป้าหมาย สร้างความหวังให้เศรษฐกิจให้ได้ ยิ่งเขาว่ากันว่า ปีหน้าจะหนักหนาสาหัส
ท้าทายจริงๆงานนี้.
** อนาคตใหม่ อยู่ในภาวะถดถอย จนใกล้จะถึงจุดจบเพราะ "ทำตัวเอง" ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธนาธรถือหุ้นสื่อ ปล่อยเงินกู้ให้พรรค กระทั่งพฤติกรรมชังชาติ !!
พรรคอนาคตใหม่ออกอาการ "ระส่ำ" ตั้งแต่กรณี"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค ถูกสั่งให้สิ้นสภาพ ส.ส. จากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในช่วงลงสมัครรับเลือกตั้ง... ถึงวันนี้อาการยิ่งทรุดหนัก เมื่อ"วันสิ้นพรรค"กำลังรออยู่ข้างหน้า หลังจาก กกต. มีมติ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค กรณี "เงินกู้191ล้าน"
กรณี"ธนาธร" ถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย นั้น จากการสอบสวนพยานหลักฐานแล้ว เชื่อได้ว่า"ธนาธร" ยังถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวอยู่ในวันที่ 6 ก.พ. 62 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พรรคส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อกกต. แต่เขาโต้แย้งว่า ได้มีการโอนหุ้นไปตั้งแต่ วันที่ 8 ม.ค.62 แล้ว...แต่จุดตายในคดีนี้ก็มาจากความย้อนแย้งกันเองในคำให้การของพยานฝ่ายธนาธรเอง ตลอดจนมีการเปรียบเทียบพฤติการณ์โอนหุ้น หรือ การนำเช็คค่าหุ้นเข้าบัญชี ที่พบว่า"ผิดปกติ" จากทุกครั้งที่ผ่านๆ มา และเมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์กรณีถือหุ้นสื่อ ผนวกกับคำชี้แจงของธนาธร ต่างวาระ ก็ จะพบว่า"ไม่แนบเนียน" จนใครต่อใครเชื่อว่า "โอนหุ้นย้อนหลัง"
โดยเฉพาะเวลาที่ไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกซักเข้าตาจน เขาก็จะตอบว่า "จำไม่ได้" หรือ เบี่ยงประเด็นไปว่า ที่ถูกเล่นงาน เพราะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. หรือออกนอกเรื่องไปว่าการเข้าสู่การเมืองของเขาไม่ใช่เพื่อหวังผลประโยชน์ เหมือน "ทักษิณ ชินวัตร" ...สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาชี้ขาดให้เขาพ้นสภาพ ส.ส.
เรื่องปล่อยเงินกู้ให้พรรค 191 ล้าน นี่ก็เช่นกัน ที่มีการเปิดหัวโดย "โฆษกช่อ" พรรณิการ์ วานิช ที่ไปออกรายการ ฟังหูไว้หู ทางช่อง 9 MCOT HD ซึ่ง พิธีกรถามถึงกระแสข่าวที่ว่า พรรคยืมเงิน "เสี่ยเอก" ธนาธร มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ก็ได้รับคำตอบว่า มีการทำสัญญากู้ยืมประมาณ 200-250 ล้านบาท แถมยังหยอดมุก ด้วยว่า ถูกหัวหน้าพรรค คิดดอกเบี้ยแพงมาก เป็นคนที่หน้าเลือดพอสมควร
ต่อมา"ธนาธร" ก็แถลงข่าวที่พรรคว่า ตอนนี้พรรคอนาคตใหม่ เป็นหนี้ผมอยู่ 90 ล้าน ก็ตั้งใจว่าจะทวงคืนทุกบาททุกสตางค์...หลังจากนั้น ยังไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)เพื่อโชว์ความ "โปร่งใส"ถึงวิธีบริหารการเงินของพรรค ว่าตอนนี้ พรรคเป็นหนี้เขาอยู่ โดยเขาให้พรรคยืมเงิน 110 ล้านบาท เพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
คนที่ติดตามเรื่องนี้ก็นึกแปลกใจว่า "ยอดหนี้" ที่พูดแต่ละครั้งทำไมไม่ตรงกันเลย ตกลงแล้วพรรคเป็นหนี้หัวหน้าพรรคกี่ล้านกันแน่ .. ครั้น ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ"ธนาธร" ช่วงการเข้ารับตำแหน่งส.ส. ก็ปรากฏว่า มีรายการปล่อยเงินกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ 2 รายการ เป็นเงิน 191.2 ล้านบาท...
เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เข้าทาง "พี่ศรี" ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้เข้าร้องเรียนต่อ กกต.ให้สอบกรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากหัวหน้าพรรคว่าอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560
แต่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" มือกฎหมายของพรรค ก็ออกมาโต้แย้งว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินไม่ได้ผิดกฎหมาย พรรคการเมืองในต่างประเทศเป็นหนี้ธนาคารเต็มไปหมด พรรคการเมืองอื่นๆในเมืองไทยก็มีการกู้ยืม ไม่เห็นมีใครไปร้อง ..."ปิยบุตร" ลืมไปว่า ที่พูดมานั้น เป็นการยกตัวอย่างตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2550 ที่ปัจจุบันถูกแก้ไขไปแล้ว ซึ่งพ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ได้ตัด "รายการกู้ยืมเงิน" หรือ"รายได้อื่น "ออกจากส่วน"รายได้ของพรรคการเมือง" ไปแล้ว...
แม้ว่า" อิทธิพล บุญประคอง" ประธาน กกต.จะพูดถึงเรื่องนี้ว่า "ในกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้เงิน" ... แต่ "ปิยบุตร" ก็ยังดิ้นไปอีกว่า "ไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่า ห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน เมื่อไม่เขียนไว้ จึงสามารถทำได้" และก็ยึด "หลักกู" นี้ไว้อย่างเหนียวแน่น ...จนในที่สุด กกต.ก็พิจารณาแล้วมติ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรค ดังกล่าว
เรื่องนี้ "ดร.โจ" ชาญวิทย์ ใจสว่าง อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการถูกยื่นยุบพรรคครั้งนี้ว่า เป็นเพราะนักกฎหมาย ผู้ไม่เคยออกนอกห้องบรรยาย ไปสู่โลกความจริงแห่งการนำกฎหมายไปใช้ ประกาศไม่ส่งเอกสารการเงินให้ กกต. เพราะเห็นว่าการไม่ส่งเอกสาร เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะในทางบัญชี จะสัมพันธ์กับกฎหมาย ทุกอักษร ทุกตัวเลข ที่ใส่ลงไป คือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เท่ากับยิ่งมากความ เติมแต่ง แก้ไข อธิบาย ยิ่งพันคนเพิ่มขึ้นได้ โทษฐานความผิดอาจถูกขยายกว้างขึ้นอีก เมื่อตัดสินใจเช่นนี้ จึงนำ "หายนะ" มาสู่พรรค คือ แกนนำพรรค กรรมการบริหาร อาจติดคุก หมดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหลือต้องทิ้งพรรคไปหาพรรคใหม่ เจ้าหน้าที่พรรค ผู้ช่วย ส.ส. ตกงานเกือบพันคน...
นอกจากเรื่องถือหุ้นสื่อ เรื่องเงินกู้พรรค ยังมีอีกเรื่องคือ "พฤติกรรมชังชาติ" ที่มีการขุดคุ้ยถึงภูมิหลังของ "ธนาธร -ปิยบุตร-พรรณิการ์" มาตีแผ่...อย่างเช่น "ธนาธร" ก็เคยให้ทุนสนับสนุน"นิตยสารฟ้าเดียวกัน" ที่มักวิจารณ์สถาบันเบื้องสูงบ่อยครั้ง จนถูกจัดอยู่ใน"นิตยสารต้องห้าม" ที่มี ทัศนคติอันตรายต่อสถาบันฯ ..."ปิยบุตร" ก็ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มอาจารย์ที่มีแนวคิดเดียวกันในนาม "คณะนิติราษฎร์" ที่พยายามผลักดันไข ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ที่ว่าด้วยการกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ...ขณะที่"ช่อ" พรรณิการ์”ก็ถูกขุดคุ้ยภาพถ่ายที่ส่อไปในทางมิบังควร จากการโพสต์ภาพดังกล่าว พร้อมกับสวมชุดครุยนิสิตมหาวิทยาลัยเมื่อหลายปีก่อน ที่ทั้งภาพถ่ายและข้อความหลายวาระ สะท้อนถึง “ทัศนคติ" ต่อสถาบันเบื้องสูงได้เป็นอย่างดี กลายเป็นเหตุให้ มีผู้ไปยื่นคำร้องไว้ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ทั้ง"ธนาธร -ปิยบุตร" และกรรมการบริหารพรรค เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา
มีการมองข้ามช็อตไปว่า ถ้าอนาคตใหม่ "ถูกยุบพรรค" ส.ส. 81 คน ที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 51 คน ส.ส.เขต 30 คนนั้น ส.ส.บัญชีรายชื่อจะสิ้นสภาพไปพร้อมกับการยุบพรรคหรือไม่ ...แต่ ส.ส.เขต 30 คน เชื่อว่าเกือบทั้งหมด จะต้องไปเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง ในซีกรัฐบาลแน่ ...โดยเฉพาะรัฐบาลก็กำลังหาทางแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำอยู่ คงต้องมีการ"ดีล"กันคึกคักแน่ ...
**"ลุงตู่" ชื่นชม "ฟ้าใส" ตอบคำถามบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ดี แม้จะเจอคำถามที่ตอบยาก บอกให้กำลังใจทุกคนประกวดในนามประเทศไทย
"รัฐบาลสอดแนมประชาชน เพื่อต้องการให้ประเทศและประชาชนปลอดภัย แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว คุณคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัว"
นั่นคือคำถาม ซึ่งถือว่าเป็น"ไฮไลต์" ที่ "ฟ้าใส" ปวีณสุดา ดรูอิ้น มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 ต้องแสดงทัศนคติ ให้กรรมการพิจารณาในรอบ 5 คนสุดท้าย เพื่อช่วงชิงมงกุฎ มิสยูนิเวิร์ส ปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
เป็นคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ถือว่าตอบยาก ซึ่ง "ฟ้าใส" ตอบว่า...
"ฉันเชื่อว่า ทุกๆประเทศนั้นรัฐบาลจะมีมาตรการหรือนโยบายที่จะรักษาความปลอดภัยของพวกเรา และฉันก็ยังเชื่อมั่นว่าความปลอดภัยนี้ไม่ควรข้ามเส้นของความเป็นส่วนตัวของเราเอง อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงนั้นก็จะเป็นและสำคัญ ดังนั้นฉันจึงเชื่อมั่นว่า การที่เราทุกคนจะสามารถอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้นั้น รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงให้พอเหมาะ พอดี เพื่อความสงบสุขของสังคม"
คำตอบนี้กลับกลายเป็นประเด็นร้อน ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลฯ ว่าเป็นสาเหตุให้ "ฟ้าใส" พลาดมงกุฎระดับโลกในครั้งนี้ ...บ้างก็ว่า คำตอบของ"ฟ้าใส" แสดงถึงทัศนคติแบบไทยๆ ที่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัวเท่าไร ...บ้างก็เอาเรื่องการเมืองในไทยมาผสมโรงเข้าไปว่า เป็นเพราะ "รัฐบาลเผด็จการ" ที่ครอบงำประเทศนานเกินไป ทำให้ "ฟ้าใส" ต้องตอบออกมาอย่างนั้น
ขณะที่ "เดนนี รอย" ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสหรัฐอเมริกา กลับมีความเห็นว่า "ฟ้าใส" ตอบได้ดีแล้ว เพราะการให้เลือกระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความมั่นคง เป็นเรื่องที่ตอบยาก ถ้าระบุชี้ชัดลงไป อาจส่งผลให้เจ้าของคำตอบมีปัญหาในประเทศของตัวเอง
ขนาด "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"นายกรัฐมนตรี ที่ติดตามลุ้นอยู่ตลอด แม้จะเสียดายที่ "ฟ้าใส"ไปไม่ถึงดวงดาว แต่ก็ยังอดที่จะชื่นชมไม่ได้ โดยพูดถึงเรื่องตอบคำถามว่า... "เป็นคำถามที่ค่อนข้างยาก... เอาไว้ให้ผมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดก่อน แล้วจะตั้งคำถามให้... มีบางคนมาบอกว่าเพราะผมเป็นนายกฯ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รางวัล แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผม ผมก็เห็นเขาตอบคำถามดี และผมก็ให้กำลังใจเขา ยังนึกว่าจะได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส... ผมให้กำลังใจทุกคน เพราะไปประกวดในนามประเทศไทย"
การตัดสินการประกวดนางงามนั้น ว่ากันว่า เมื่อมาถึงรอบ 5 คนสุดท้ายแล้ว ความงามที่ใบหน้า ผิวพรรณ สรีระร่างกาย ไม่ได้แตกต่างกันมากแล้ว จึงต้องตัดสินกันด้วยทัศนคติ ไหวพริบ ในการตอบคำถาม...แต่ต้องไม่ลืมว่า เบื้องหลังการตัดสินยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญด้วย…
เวที "มิสยูนิเวิร์ส" เป็นลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทที่จัดการประกวด ก็เป็นบริษัทในเครือข่ายธุรกิจของ"โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา... ดังนั้นต่อให้ "ฟ้าใส" ตอบคำถาม แสดงทัศนคติได้ดี ถูกใจคณะกรรมการแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะคว้ามงกุฎ มาให้คนไทยชื่นชมได้...เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา ในช่วงนี้เป็นอย่างไรคงจะรู้ซึ่งกันดี... เงื่อนไขมันอยู่ตรงนี้ !!