รมว.ดีอี เตรียมดึง “สาธิต-อธิรัฐ” ช่วยประสานครม.กับวิปรัฐบาล ยอมรับคุยเศรษฐกิจใหม่ มาช่วยรัฐบาล ยังไม่ส่งเทียบเชิญเข้าก๊วนอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (6ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจัทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงการควบคุมเสียงส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ไม่มีปัญหา โดยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทำงานกันด้วยดี และมีระบบการตรวจสอบตรวจทานที่เข้มแข็งมากขื้น รวมถึงการประสานงานระหว่างแกนนำของพรรคการเมืองต่างๆที่เข้าร่วมรัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้นและพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่อกันบ่อยขึ้น พร้อมกับพยายามปรับปรุงเพิ่มความเข้มแข็งเมื่อเกิดมีประเด็นใดขึ้นมา นอกจากนี้ หลังจากตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้เป็นหัวหน้าผู้ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ตนจึงเห็นว่าเมื่อหลายพรรคได้รับนโยบายและมีการผลักดันการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ รัฐมนตรีที่มาจากแต่ละพรรคควรมาช่วยกันประสานงานและติดตามอย่างใกล้ชิดเวลาทำหน้าที่ในสภาฯด้วย ตนจึงจะเสนอให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เป็นตัวแทนของรัฐบาลมาผู้ประสานงานกับวิปรัฐบาล โดยนายสาธิตจะประสานงานกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่นายอธิรัฐช่วยดูในส่วนของส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
เมื่อถามว่าจะต้องเพิ่มเติมมาตรการใดหรือไม่ต่อการที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่สามารถควบคุมเสียงส.ส.ของตัวเอง นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของแต่ละพรรค ตนเชื่อว่าแต่ละพรรคมีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เมื่อทุกพรรคฝ่ายรัฐบาลร่วมมือกันด้วยดีในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ตนเชื่อว่าการประชุมสภาฯหลังจากนี้ไปคงจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประชุมสภาที่ต้องเร่งให้อยู่ครบทุกครั้ง เพื่อให้สภาฯเดินต่อไปได้ เรื่ององค์ประชุมสภาฯถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ ส.ส.ทุกคนทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวถามจะต้องปรับระบบการที่ส.ส.จะยื่นญัตติใดๆต่อสภาว่าจะต้องขอความเห็นชอบจากวิปรัฐบาลก่อนหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ระบบยื่นญัตติต่อสภาฯ มี 2 ส่วน คือ 1.ญัตติที่ครม.เสนอ 2.ญัตติที่มาจากสภาฯ ซึ่งการที่ส.ส.เสนอญัตติต่างๆในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีการพูดคุยกันประสานงานกับวิปรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องของการเรียงลำดับ และการทำความเข้าใจ ซึ่งบางครั้ง บางพรรคไม่ได้คิดว่าการเสนอร่างกฎหมายบางฉบับจะมีปัญหา เราจึงมีแนวทางแล้วว่าอยากให้ส.ส.ทุกพรรคให้ความสำคัญและร่วมรับผิดชอบเวลาที่มีการเสนอเรื่องใดก็ตามเข้าสภาฯ อย่างไรก็ตาม ส.ส.ทุกคนยังมีเอกสิทธิ์โดยชอบธรรมในการทำเรื่องใดๆอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามาขันน็อตให้มาสนับสนุนหรือช่วยกันทั้งญัตติที่มาจากครม.และญัตติที่มาจาก ส.ส. ขณะเดียวกัน ในส่วนของรัฐมนตรีนั้น รัฐมนตรีทุกคนเข้าใจดี แต่ต้องมาช่วยกันผลักดันให้ทุกคนในพรรคร่วมรัฐบาลเข้มแข็งมากขึ้น และช่วยกันดูแลนับเสียงส.ส.ให้มากขึ้นด้วย
เมื่อถามว่าข่าวที่ว่าจะดึงพรรคเศรษฐกิจใหม่มาร่วมรัฐบาลด้วยจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลดูดีสดใสมากขึ้นหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า แนวทางก็ดูดีขึ้น ซึ่งเห็นได้พรรคเศรษฐกิจใหม่มีส.ส. 4 คนที่มาร่วมเป็นองค์ประชุมและลงมติร่วมสนับสนุนแนวทางเดียวกับรัฐบาล ในการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถามย้ำว่าได้พูดคุยกับพรรคเศรษฐกิจใหม่มาก่อนหน้านี้หรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตเคยพูดคุยกันในฐานะเพื่อนสมาชิกในสภาฯ ตนพูดกับเพื่อนสมาชิกทุกคน โดยกรณีของส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ตนพูดคุยชักชวนแบบพี่ๆเพื่อนๆน้องๆ แล้วเขามาช่วยเป็นองค์ประชุมให้ ซึ่งถือเป็นภารกิจแรกที่สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่เคยคุยกับส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อชวนให้อยู่ด้วยกันใช่หรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ก็คงประมาณนั้น เมื่อถามถึงแนวโน้มที่พรรคดังกล่าวจะมาร่วมรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ต้องให้เขาตัดสินใจ เพราะกระบวนการของแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถตอบแทนพรรคอื่นๆได้ แต่ดูจากที่ได้เคยทำงานร่วมกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนคิดว่าค่อนข้างดี แต่ยังไม่มีการเชิญอย่างเป็นทางการ