xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงไพศาล” มองทะลุเกม “ลุงกำนันสุเทพ” และ “ปชป.” เลือดไหลไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไพศาล พืชมงคล มองทะลุเกม “ลุงกำนันสุเทพ” ดูด “หมอวรงค์” นั่นหัวหน้าพรรค รปช. และรมว.แรงงาน พร้อมสั่นสะเทือนถึง ปชป.เลือดไหลไม่หยุด

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กรณีวันนี้ (24 พ.ย.62) เฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol ของ ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ หัวเรื่อง
“ถอดรหัสจากงานต้อนรับหมอวรงค์”

1.หมอวรงค์น่าจะไปเป็นหัวหน้าพรรค และรมว.แรงงาน
2. น่าจะมีเลือดไหลออกจาก ปชป. ไปอยู่กับลุงกำนันอีกหลายคน น่าจับตา ปชป.ว่าจะมีแรงต้่านไหม
3. กรณีจึงน่าจะปรับ ครม.แต่มีศึกงบประมาณและอภิปรายไม่ไว้วางใจรออยู่ ดังนั้นจึงน่าจะปรับหลังผ่าน 2 ศึกนี้ก่อน
4.พิเคราะห์จากศึก 2 สื่อ และ ศึก 2 ก๊วนใหญ่และช่วงเวลาการยุบพรรคแล้ว ฟันธงว่า "ปรับกลาง"

ไผเป็นไผข้อยเป็นกระบี่เดียวดายจึงบ่ฮู้ เพราะมัวตามข่าวคุณปู่อายุ 85 ข้างล่างนี้ที่ท่านเพิ่งแต่งงานกับสาว 16 อยู่

น่าสนใจเพราะในวันต้อนรับ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ย้ายมาสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) เมื่อ 23 พ.ย. ที่ห้องประชุม Pacific Club ชั้น 28 อาคารทูแปซิฟิกเพลส ถนนสุขุมวิท นั้น

ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวอย่างชัดเจนว่า ตามที่มีข่าว ตกลงกับนพ.วรงค์ว่าถ้าหากย้ายมาพรรค รปช. แล้ว จะให้มารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค นั้น ยืนยันต่อสมาชิกพรรคว่าไม่จริง และม.ร.ว.จตุมงคลจะยังเป็นหัวหน้าพรรครปช.จนครบวาระ 4 ปี และทำหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานต่อไปจนจบสมัยของรัฐบาลชุดนี้

ถ้าเช่นนั้น ประเด็นของ “ลุงไพศาล” จะเกิดขึ้นได้อย่าง ประเด็นจึงมาอยู่ที่ว่า “ลุงไพศาล” วิเคราะห์เอาไว้ก่อนล่วงหน้า อ่านเกมการเมืองในภาพใหญ่ว่า จะต้องมีการ “ยุบสภา” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงตอนนั้น “หมอวรงค์” ที่ลุงกำนันชอบนักชอบหนา มาอยู่พรรคเดียวกันได้ก็เพราะพรหมลิขิตชักพาขนาดนั้น

ภาพจากแฟ้ม
“ขณะที่ตัวเองยังอยู่ในพรรคปชป. นพ.วรงค์เป็นคนเดียวที่ถูกใจในการทำงาน เพราะเป็นคนทำงานจริง มุมานะ เอาจริงเอาจัง น่าศรัทธา เลื่อมใส สมเป็นตัวแทนที่ประชาชนได้รับความไว้วางใจ และที่เข้าตามาที่สุดคือผลงานการตรวจสอบทุจริตโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยจะให้นพ.วรงค์เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการจัดตั้งสาขาพรรคทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค”

บางตอนที่ลุงกำนันสุเทพ อวยหมอวรงค์ และพร้อมยกหน้าที่ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มในพรรคให้ดูแล ดูเหมือนจะใหญ่กว่าหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำ?

อย่างนี้ไม่ให้วิเคราะห์ล่วงหน้าว่า จะนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค พ่วง รมต.ในอนาคตได้อย่างไร นับว่าน่าจับตาอย่างยิ่ง

อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ พรรคประชาธิปัตย์จะเลือดไหลไม่หยุดอีกหรือไม่ กรณีไหลตาม นพ.วรงค์ มาอยู่พรรคลุงกำนันสุเทพ

เพราะอย่าลืมว่า การที่ “หมอวรงค์” กล้าลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค กับ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องมีฐานส.ส.ภายในพรรคสนับสนุนไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะส.ส.ที่เคยอยู่ในกลุ่มก้อนของลุงกำนันสุเทพ ที่ยังเลือดไหลไม่หมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ เลือดไหล อาจต้องย้อนให้เห็นว่า ครั้งใหญ่นั้น เกิดขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 62 โดยเฉพาะช่วงลุงกำนันสุเทพตั้งพรรคใหม่ๆ และช่วงที่ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีพลังดูดอย่างสูง

ตัวอย่างอดีต ส.ส.ที่ย้ายไปอยู่กับ พปชร. เช่น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม. ปี 52, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม. ปี 54, สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. ปี 50, ประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี, สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี นายธรรมวิชญ์ และ นายอัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และบุตรชายของ กำนันเซียะ-ประชา โพธิพิพิธ ผู้กว้างขวางในจังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ

ยิ่งว่ากันว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะมีบทบาทก็ต่อเมื่อมีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลเท่านั้น จริงหรือไม่ คนประชาธิปัตย์ย่อมรู้ดี

โดยเฉพาะที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ กรณีชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกันถึงสองครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน ย่อมส่งสัญญาณให้เห็นอะไรบางอย่างได้ดีที่สุด แม้ว่าเวลานี้จะยังไม่มีแรงกระเพื่อมมากนักก็ตาม แต่ก็นับว่าเปราะบางที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และนั่นอาจหมายถึงเลือดที่ไหลไม่หยุดตามมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ โพสต์ของ “ลุงไพศาล” ก็มิอาจมองข้าม เพราะคนที่อยู่กับพรรคมานาน อย่าง “หมอวรงค์” และมีผลงานฝากเอาไว้จนเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกับพรรค กรณีการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังตัดสินใจย้ายพรรค ต่อให้บอกว่าไม่มีปัญหาอะไรขัดแย้งกันก็ตาม แต่ทุกอย่างมันอยู่ในสายตาของสาธารณชนอยู่แล้ว

จึงนับว่าน่าจับตามอง นับแต่นาทีนี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น