ลาออก แต่ยังทิ้งปมเหตุเอาไว้ ร้ายไม่เบา “หมอวรงค์” หลายฝ่ายแทบจะฟันธง ซบพรรคลุงกำนันสุเทพ อย่างไม่ต้องสงสัย “เทพไท” อวย เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนจะมีใครเรียงรายกันออกตามมาหรือไม่ อยู่ที่สาย “สุเทพ-หมอวรงค์” เหนียวแน่นแค่ไหน
วันนี้(21 พ.ย.62) เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
โพสต์ข้อความ หัวข้อ “เรียน พี่ๆ เพื่อนๆพรรคปชป.ทุกท่าน”
โดยระบุว่า ผมได้ตัดสินใจลาออกจากพรรคแล้ว เมื่อ 19 พ.ย. 62 แต่บนพื้นฐานที่พวกเราเข้าใจกัน ยังรักและเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และยังถือว่าเราเป็นพวกเดียวกัน ที่อาจต้องพึ่งพากัน เพื่อประเทศชาติของเรา
ผมได้ลาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของพวกเราด้วย ตามวัฒนธรรม ไปลามาไหว้ของคนไทยเรา
ผมตั้งใจแถลงข่าว เหตุผล และเส้นทางต่อไปในอนาคต 23 พ.ย.นี้ครับ
ขอบคุณทุกๆท่านครับ
ก่อนหน้านี้(19 พ.ย.) นพ.วรงค์ ได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ความว่า
“วันที่ 19 พ.ย. 2562 เรื่องขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เรียน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ข้าพเจ้านายวรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หมายเลข 6116500001 วันที่เป็นสมาชิกพรรค 2 ตุลาคม 2561 ประสงค์ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคฯ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2562 เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อนายวรงค์ เดชกิจวิกรม”
โดย นพ.วรงค์ กล่าวสั้น ๆ ยอมรับว่า ได้ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จริง แต่วันนี้ตนยังไม่ขอให้สัมภาษณ์สื่อใด ๆ ยังไม่พร้อมชี้แจงอะไร ขอเวลาอีก 2 วัน คือวันที่ 23 พ.ย. นี้ ซึ่งถ้าพร้อมแล้วจะนัดสื่อแถลงชี้แจงในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเอง
เรื่องนี้ปลุกกระแสความสนใจขึ้นมาทันที โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า มีความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ และอนาคตจะย้ายไปสังกัดพรรคอะไร ซึ่งคงจะได้ความชัดเจนจากปากของ “หมอวรงค์” ในวันที่ 23 พ.ย.ตามที่ระบุไว้
กระนั้น ถ้าฟังจาก นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า “หมอวรงค์” ตั้งใจลาออกไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เป็นผู้ก่อตั้ง
โดยนายเทพไท กล่าวว่า ตนได้ทราบเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงมีการวิเคราะห์กันว่า นพ.วรงค์ อาจจะไปทำพรรคการเมืองใหม่ หรือจะออกไปสังกัดพรรคการเมืองบางพรรคที่จะเปลี่ยนให้ นพ.วรงค์ เป็นหัวหน้าพรรค
ส่วนอาจจะไปร่วมงานกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นั้น “อาจมีความเป็นไปได้ เนื่องจาก นพ.วรงค์ มีความสนิทสนมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรค รปช. และเชื่อว่า นพ.วรงค์ มีศักยภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะไปอยู่พรรคไหน ก็สามารถเป็นผู้นำพรรคได้”
ส่วนสาเหตุการลาออก เป็นเพราะความอึดอัดในการทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า ไม่ได้อึดอัดในการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ที่มีการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และก็ได้ทำงานให้กับพรรคอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าว นพ.วรงค์ ยื่นหนังสือลาออกเพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า ยังไม่เห็น อย่างไรก็ตาม หากใครมาอยู่ด้วยก็ยินดี พรรคนี้เป็นพรรคที่คนส่วนใหญ่มาจาก กปปส.ไม่ใช่นักการเมือง ซึ่ง นพ.วรงค์ เป็น ส.ส.เก่า หากมาก็ต้องมีทีมงานด้วย ถือเป็นคนที่มีเครือข่าย
ถามว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.มาบอกเป็นการส่วนตัวหรือไม่ว่า นพ.วรงค์จะย้ายมาอยู่ที่พรรค ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าวว่า ตนได้มีการพูดคุยกับนายสุเทพอยู่ตลอดในเรื่องต่างๆ ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่จะย้ายเข้ามาอยู่ที่พรรค ตอนนี้ไม่ได้ติดขัดเรื่องใด รอเป็นไปตามกระบวนการ หากจะมา ทุกอย่างจะค่อยๆ พูดคุยกับตน เพราะตนเป็นคนเซ็นได้คนเดียว
“เชื่อว่าคนอย่าง นพ.วรงค์ ก่อนจะลาออกจากพรรค ปชป.ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าจะไปไหน ยอมรับว่ามีการพูดคุยก่อนหน้านี้ ส่วนจะมีคนอื่นเข้ามาเพิ่มอีกหรือไม่ ผมไม่ทราบ”
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการลาออกของนพ.วรงค์ว่า ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้านานพอสมควรแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนเหตุผลให้ถามจากตัวท่านเองดีที่สุด ตนก็เพียงแต่บอกไปว่า ขอให้โชคดี ซึ่งเราต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน
สำหรับ นพ.วงรงค์ หลังจากแพ้เลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 22 มีนาคม 2562
วันที่ 25 มี.ค. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom วิพากษ์วิจารณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคขณะนั้น อย่างเผ็ดร้อน
เนื่องจากก่อนหน้านี้ “อภิสิทธิ์” ได้แสดงจุดยืนยันกับคนไทยทั้งประเทศว่า ไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
โดย นพ.วรงค์ โพสต์หัวข้อ “เรือที่ชื่อประชาธิปัตย์” เนื้อหาระบุว่า
การนำพาเรือที่ชื่อประชาธิปัตย์ภายใต้กัปตันท่านนี้ได้พิสูจน์ถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่มากๆ ครั้งนี้ไม่ใช่แค่อับปาง น้ำรั่ว หรือผนังเรือพังเท่านั้น แต่เป็นการอับปางเกือบจะเหลือแต่ซาก
การกำหนดทิศทางเรือที่ผิดพลาด ไม่รบกับศัตรูเดิม แต่เปิดศึกสร้างศัตรูใหม่ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นแนวร่วม ไปเล่นในเกมที่คนอื่นกำหนด ขณะที่กำลังรบเราก็ไม่มาก ยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจต่อคนดูที่มีอำนาจลงคะแนน สุดท้ายประชาชนก็ลงโทษ
แม้นักรบในเรือหลายคนคาดเดาถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เหมาะสมที่จะพูดในสถานการณ์สู้รบ คิดว่าจะช่วยกันมากอบกู้เมื่อทุกอย่างสงบ แต่ความรุนแรงของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาลจนต้องสูญเสียนักรบเกือบทุกภาคของประเทศ แม้แต่กรุงเทพฯ ก็เป็นศูนย์
กัปตันและทีมแม้จะเอาชีวิตรอดมาได้ แต่ก็แลกกับชีวิตทางการเมืองของเพื่อนๆ หลายชีวิตมากบนซากปรักหักพังนี้ ถึงเวลาจริงๆ แล้วที่พวกเราต้องไม่เกรงใจกัน ต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีทำงานกันครั้งใหญ่
อย่ามองกันในแง่ร้ายว่าจะมายึดเรือลำนี้ เพราะพวกเราต้องอยู่ร่วมกัน ขอให้เพียงแต่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ไม่เอาแต่พรรคพวก เปิดใจให้กว้างกับคนที่คิดต่าง เพราะการคิดเหมือนกันได้ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลว… ถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ แล้วครับ
อย่างไรก็ตาม ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ จะเห็นว่า “หมอวรงค์” นอกจากโดดลงมาร่วมกับ ลุงกำนันสุเทพ ในฐานะแกนนำ กปปส. แล้ว ยังถูกมองจากนักวิเคราะห์เกมการเมืองว่า เขาถูกลุงกำนันเชิดให้ชิงหัวหน้าพรรคกับ “อภิสิทธิ์” แม้ว่า ลุงกำนันสุเทพจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้แล้วก็ตาม แต่ก็ทำให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ สายลุงกำนันสุเทพ และ หมอวรงค์ นั้น มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสายภาคใต้ ที่ลุงกำนันสุเทพเคยดูแลมาก่อน
เพียงแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ22 มี.ค.62 แม้ลุงกำนันจะตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แล้วก็ตาม แต่การที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะลาออกมาอยู่กับพรรคลุงกำนันกันยกใหญ่ ก็อาจมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีอยู่เดิม และฐานเสียงที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่กล้าออกมา และอยู่ในสภาพตัวอยู่ทางใจอยู่ทางมาตลอด โดยเฉพาะ “หมอวรงค์” ที่ชัดเจนว่าใกล้ชิดลุงกำนันสุเทพ ยิ่ง อยู่.ไม่.เป็น.กับพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นทุกวัน จนวาระสุดท้ายมาถึงจึงลาออก
ที่น่าวิเคราะห์ตามมา ก็คือ กรณีนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยสนับสนุนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตแกนนำกปปส. ลงแข่งหัวหน้าพรรค กล่าวถึง การนำพลพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ว่ามั่นใจ ส.ส.เกินครึ่งของปชป. ต้องการเข้าร่วมรัฐบาล และยืนยันขณะนี้มีเสียง ส.ส.ในกลุ่ม 27-30 คน พร้อมโหวตเข้าร่วมรัฐบาลในที่ประชุมร่วม ส.ส.(ข่าวสดออนไลน์/4 มิ.ย.62)
นั่นเป็นข้อยืนยันได้หรือไม่ว่า ส.ส.กลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับลุง กำนันสุเทพแกนนำ กปปส.เป็นส่วนใหญ่ และยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์
การที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล ในฐานะหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า “นพ.วรงค์ เป็น ส.ส.เก่า หากมาก็ต้องมีทีมงานด้วย ถือเป็นคนที่มีเครือข่าย” อาจหมายถึง ส.ส.ประชาธิปัตย์อีกหลายคนจะลาออกตามมาด้วย ใช่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างสูง แม้อาจต้องรอเวลาและสถานการณ์อันเหมาะสม ก็ตาม แต่ก็ไม่ต่างกับระเบิดเวลาสำหรับพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เริ่มต้นการเมืองจากการสังกัดพรรคไทยรักไทย แต่ทว่าลาออก เมื่อพรรคเปลี่ยนตัวผู้สมัครส.ส.พิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2547 แล้วย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.พิษณุโลก ตั้งแต่พ.ศ. 2548, พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2554 ในสีเสื้อพรรคประชาธิปัตย์
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า น.พ.วรงค์ มีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเข้มข้น ในเรื่องนโยบายจำนำข้าว และเป็นที่ยอมรับของฝ่ายค้านด้วยกัน จนสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก โดยแม้แต่ยิ่งลักษณ์เอง ก็ต้องหนีออกนอกประเทศ
ไม่แปลก หากพลพรรคประชาธิปัตย์บางคนจะเชื่อว่า การลาออกของ “หมอวรงค์” เพราะต้องการไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ที่มีโอกาสเป็นผู้นำพรรค หรือหัวหน้าพรรค เพราะโดยบารมีทางการเมืองที่ถึงขั้นเคยลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กับ “อภิสิทธิ์” ได้ ก็นับว่าไม่ธรรมดา และที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่านั้น ก็คือ ความใกล้ชิดกับลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มากบารมีแห่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นั่นเอง ที่พร้อมจะดันก้น “หมอวรงค์” ให้ถึงฝั่งฝัน หรือไม่จริง!?