xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” หอบแผนที่ยันที่ดิน “ปารีณา” อยู่ในเขต ส.ป.ก.บางส่วนทับที่ป่าสงวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรืองไกร” หอบแผนที่แฉที่ดินฟาร์มไก่ “ปารีณา” 7 หลัง อยู่ในที่ ส.ป.ก. อีก 1 หลังอยู่ในที่ป่าสงวน อ้างคำประกาศ อบต.ยัน ภบท.5 ไม่มีแจกแล้ว บี้ “ประยุทธ์-ธรรมนัส” จัดการ ชี้หากผิดต้องคืนสถานเดียว




วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กล่าวว่า หลังจากที่ตนยื่นเรื่องของให้คณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีครอบครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ปารีณา ว่า ครอบครองที่ดินลำดับที่ 19-76 รวม 58 แปลง แสดงมูลค่าโดยรวม 2 แสนบาท คำนวณตกไร่ละ 117 บาท หรือตารางวาละ 29 สตางค์ ซึ่ง น.ส.ปารีณาอธิบายว่า ที่ดินทั้งหมดเป็น ภบท.5 โดยระบุหมายเลขแต่ละแปลงแตกต่างกันไป เช่นลำดับที่ 19 หมายเลข7/49 และลำดับที่ 20 หมายเลข 7/49 ซึ่ง น.ส.ปารีณาได้ลงหมายเลขพื้นที่แต่ละแปลงไว้เหมือนกันหมด รวมที่ทั้งหมด 1,706 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือตำแหน่งที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เหมือนกันหมด

นายเรืองไกรกล่าวว่า เหตุที่ตนเพิ่งจะมาร้องในตอนหลังนั้น เพราะชาวบ้าน จ.ราชบุรี ไปร้องขอคืนที่ดินที่ ต.รางบัว กรณีของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประมาณ 500 ไร่ ในวันนั้น น.ส.ปารีณา พาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปด้วย ในกรณีนางสมพรก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่นักการเมือง จากนั้นตนก็จำได้ว่าเอกสารของ น.ส.ปารีณา ที่ตนเก็บไว้ก็อยู่ในพื้นที่ตำบลดังกล่าวเช่นกัน ตนจึงสงสัยว่าเหตุใด น.ส.ปารีณาจึงนำที่ดินดังกล่าวไปแจ้งแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ได้ จึงได้ใช้สิทธิตามมาตรา 106 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ขอให้มีการตรวจสอบ เมื่อยื่นก็ได้ทราบว่าเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลงพื้นที่ จ.ราชบุรี และกาญจนบุรี ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้าไปตรวจสอบว่าเข้าไปครอบครองได้อย่างไร ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงมาตรวจสอบว่าเป็นที่ ส.ป.ก.หรือไม่


“ต้องขออภัยจริงที่ต้องยื่นเรื่องนี้ เพราะต้องทำตามหน้าที่ เมื่อ น.ส.ปารีณายืนยันเองว่าได้ครอบครองพื้นที่นี้มานับสิบปี ผมจึงตามต่อว่าการครอบครองที่ดินเหล่านี้ได้มาชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่ หรือต้องคืนพื้นที่ให้หลวงหรือไม่ กรณีการคืนที่ให้หลวงก็ต้องกลับมาย้อนดู ก่อนหน้านี้มีการเรียกคืนที่ดินในเขตปฏิรูป โดยคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 การเอาที่ดินเป็นส่วนหนึ่ง แต่กรณีที่ของป่าไม้ถ้าทำผิดก็อาจจะต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็เป็นเรื่องของ ร.อ.ธรรมนัสต้องไปดูแล”

ทั้งนี้ นายเรืองไกรได้แสดงแผนที่ประกอบพร้อมกล่าวว่า เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ส่งเอกสารมาให้ว่าที่ดินดังกล่าวมีการแบ่งพื้นที่อย่างไร เบื้องต้นเป็นแผนที่ในเส้นสีแดงซึ่งเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายเป็นแม่น้ำภาชี เส้นสีน้ำเงินจะเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ส่วนพื้นที่สีเขียวคือฟาร์มเลี้ยงไก่ ในฐานะที่ตนเป็นกรรมาธิการงบประมาณฯ จึงขอแผนที่อย่างเป็นทางการจากกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ซึ่งจากการพิจารณาสรุปได้ว่าการถือครองที่ดิน ภบท.5 ของ น.ส.ปารีณา จากแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่แจ้งว่าที่ดินบางส่วนเป็นที่ตั้งของฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ “เขาสวนปาล์ม” เมื่อตรวจสอบจากกูเกิลแมปพบอาคารเลี้ยงไก่ 8 หลัง เมื่อสอบประเภทที่ดินพบว่าอาคารเลี้ยงไก่ 7 หลัง อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2554 และ 1 หลังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ. 2527 เมื่อตรวจสอบที่ตั้งอาคารเลี้ยงไก่และบริเวณใกล้เคียงไม่มีแปลงรังวัดสิทธิทำกิน (สทก.) และแปลงกรมป่าไม้อนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และไม่มีการสำรวจถือครองตามมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 พบอาคารเลี้ยงไก่เพียง 2 หลัง

นายเรืองไกรกล่าวว่า มีหลายคนสอบถามว่า ที่ดิน ภบท.5 ถูกยกเลิกไปแล้วหรือยัง ตนยกตัวอย่างประกาศของ อบต.ยางหัก ที่อธิบายความว่าปัจจุบันจะไม่มีการออก ภบท.5 แต่อย่างใดสำหรับคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิครอบครองให้อีกแล้ว ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้ตนจึงอยากฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลจะเพิกเฉยละเลยไม่ได้ และฝากไปถึงนายวราวุธ และ ร.อ.ธรรมนัส ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามข้อมูลที่ตนให้โดยเปิดเผย

“ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังรวบรวมเอกสารและในวันนี้จะเข้าการพิจารณาของ ส.ป.ก. หลังจากกรมวิชาการการเกษตรพิจารณา จากนั้นอยากจะให้ส่งเอกสารข้อมูลมาที่คณะกรรมาธิการที่ดิน เพราะว่าพื้นที่ของหลวงเป็นส่วนหนึ่งของเงินแผ่นดิน ส่วนการตรวจสอบหลักฐานการเสียภาษีก็ตรวจสอบได้ไม่ยากและจะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลทำงานคู่ขนานกับ ป.ป.ช.” นายเรืองไกรกล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น