บอร์ด ก.กลางท้องถิ่น ไฟเขียว "ล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นการกระทำผิดวินัย ส่วน “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” เป็นความผิดวินัยร้ายแรง พ่วง"โทษตัดเงินเดือน" เปลี่ยนเป็น “ตัดเงินเดือนครั้งหนึ่ง ไม่เกินอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือน ตามคำสั่งลงโทษเป็นเวลา 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน ทำครู/บุคลากรทางการศึกษาได้อานิสงค์ พร้อมปรับเกรดการให้โบนัส ขรก.ท้องถิ่น 3 กลุ่ม ลดหลั่นเลื่อนเงินเดือน เฉพาะครูท้องถิ่น เปลี่ยนระบบเป็น “แบบเปอร์เซ็นต์” มีสิทธิเลื่อนเงินเดือนทั้งปี ไม่น้อยกว่า 4%
วันนี้ ( 10 พ.ย.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า มติการประชุมคณะกรรมการกลางข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น หรือ คณะกรรมการ ก.กลาง (ก.จ. (อบจ.) ,ก.ท. (เทศบาล) และ ก.อบต.) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติร่วมกัน ให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ กำหนดให้ “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดวินัยร้ายแรง
กำหนดให้ “การล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นการกระทำผิดวินัย และกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษทางวินัย ได้แก่ "โทษตัดเงินเดือน" เปลี่ยนเป็น “ตัดเงินเดือนครั้งหนึ่งไม่เกินอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลา 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน”
ที่ประชุม ยัง กำหนด "โทษลดเงินเดือน" (เปลี่ยนแปลงเฉพาะการลงโทษครูหรือบุคลากรทางการศึกษา) โดยเปลี่ยนเป็น “ลดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 หรือร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่มีคำสั่งลงโทษ แล้วแต่กรณี
นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางปฏิบัติการจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นกรณีพิเศษ (โบนัส) สำหรับข้าราชการหรือพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีการเปลี่ยนระบบการเลื่อนเงินเดือนจาก “ระบบขั้นเงินเดือน” เป็น ระบบ “ร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์” ดังนี้ ให้ข้าราชการหรือพนักงานครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะมีสิทธิได้รับโบนัส จะต้องได้รับการเลื่อนเงินเดือนทั้งปี ไม่น้อยกว่า 4%
ส่วน การจ่ายโบนัส ให้พิจารณาลดหลั่นกันตามผลการเลื่อนเงินเดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนรวมกันทั้งปี 8% ขึ้นไป กลุ่มที่ 2 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนรวมกันทั้งปี 6% แต่ไม่เกิน 8% และกลุ่มที่ 3 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนรวมกันทั้งปี 4% แต่ไม่เกิน 6%
ขณะที่ ทีป่ระชุม ก.จ. ได้มีมติเห็นชอบ ให้ อบจ. สงขลา และ อบจ. นนทบุรี ปรับปรุงโครงสร้างของ “ กองช่าง” เป็น “สำนักการช่าง” และให้แก้ไขประกาศ ก.จ. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งของ อบจ. ... โดยแก้ไขให้ อบจ. ทุกแห่ง มีรองปลัด อบจ. 2 อัตรา (เป็นรองปลัด อบจ. ระดับสูง 1 อัตรา และรองปลัด อบจ. ระดับกลาง 1 อัตรา) โดยในการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งรองปลัด อบจ. ระดับสูง ครั้งแรก ให้ใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งผู้มีสิทธิสมัครต้องเป็นข้าราชการ อบจ. เท่านั้น
ส่วน ก.อบต. ได้มีมติเห็นชอบ ให้แก้ไขประกาศ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่งของ อบต. ดังนี้ ให้ อบต. จากเดิมมี 3 ขนาด (เล็ก กลาง ใหญ่) เปลี่ยนเป็น อบต. มี 3 ประเภท (ประเภทสามัญ ประเภทสามัญ ระดับสูง และประเภทพิเศษ) เช่นเดียวกับเทศบาล
ก.อบต. ยังกำหนดตำแหน่งสายงานบริหาร ประกอบด้วย "อบต. ประเภทสามัญ" มีผู้บริหาร ปลัด อบต. ระดับกลาง มีรองปลัด อบต. 2 อัตรา (เป็นระดับกลาง ได้ 1 อัตรา) และมีหัวหน้าส่วนราชการ ระดับต้น/ระดับกลาง (เป็นระดับกลางต้องผ่านการประเมินตามที่ ก.อบต. กำหนด) มีหัวหน้าฝ่าย ระดับต้น - "อบต. ประเภทสามัญระดับสูง" มีปลัด อบต. ระดับสูง มีรองปลัด อบต. ระดับกลาง 2 อัตรา และมีหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกลาง มีหัวหน้าฝ่าย ระดับต้น
"อบต. ประเภทพิเศษ" มีปลัด อบต. ระดับสูง มีรองปลัด อบต. 2 อัตรา (เป็นระดับสูงได้ 1 อัตรา) และมีหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกลาง/ระดับสูง (เป็นระดับสูงต้องผ่านการประเมินตามที่ ก.อบต. กำหนด) มีหัวหน้าฝ่าย ระดับต้น
"การปรับปรุง อบต. เป็นประเภทสามัญ ระดับสูง หรือ ประเภทพิเศษ ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินด้านเกณฑ์พื้นฐาน เกณฑ์ปริมาณงาน แล้ะกณฑ์ประสิทธิภาพ การแก้ไขดังกล่าว เพื่อให้ อบต. ที่มีภารกิจ ปริมาณงาน ความยุ่งยากของงานที่เพิ่มมากขึ้น สามารถปรับปรุงตำแหน่งเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ มาปฏิบัติงาน ตลอดจนเพื่อให้โครงสร้าง อบต. และเทศบาลสอดคล้องกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อมีการยกฐานะ อบต. เป็นเทศบาล"