เฟซบุ๊ก “นปช.” โดย “ธิดา ถาวรเศรษฐ” ตั้งคำถามแรง แทงใจดำ คนเสื้อแดง ที่ดูเงียบงันผิดสังเกต นปช. และคนเสื้อแดงตายไปหมด หายไปหมด หรือไม่?
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เฟซบุ๊ก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นางธิดา ถาวรเศรษฐ โพสต์หัวข้อ “นปช. และคนเสื้อแดงตายไปหมด หายไปหมด หรือไม่?”
เนื้อหาระบุว่า เรามีการปรับองค์กรให้เป็นแนวร่วมที่มีรูปการ มีหลักนโยบาย มีคำขวัญ มียุทธศาสตร์ 2 ขาที่โด่งดัง มีการจัดตั้งโรงเรียนการเมืองนปช. ในช่วงปลายปี 2552 และต้นปี 2553 ประชาชน คนเสื้อแดงตื่นเต้นแข่งกันเข้าเรียนโรงเรียนการเมืองนปช.คับคั่ง
กลายเป็นว่า นปช. คนเสื้อแดง ฤทธิ์แรงเพิ่มขึ้น โดยมีหลักการนโยบายที่สำคัญ 6 ข้อ ถือเป็นเข็มมุ่งที่ต้องปฏิบัติ หมายความว่า เรายึดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และใช้การขับเคลื่อน “สันติวิธี” ไม่มีกองกำลังอาวุธ เราจัดศึกษาโรงเรียนการเมืองทั่วประเทศ และออกอากาศถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียมทุกนัด ปลุกให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองในทิศทางที่ถูกต้อง แน่นอนมีคนไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง จึงเกิดเสื้อแดงกลุ่มอิสระขึ้นหลายกลุ่มที่ไม่ยอมรับนโยบายของ นปช.
มวลชนแยกออกได้ เพราะเราขยายโรงเรียนการเมืองนปช.ทั่วประเทศ สร้างแกนได้มากมาย แต่ไม่ใช่การจัดตั้งในระบบกองกำลังอาวุธ เป็นการพบปะ ร่วมชุมนุม พบปะกันทางการเมืองเท่านั้น
โรงเรียนการเมืองนปช. เรามาขยายอีกทีหลังปี 2553 ที่ถูกปราบอย่างหนัก ในช่วงปี 52 – 53, 54 – 56 เป็นเวลาบ่มเพาะทางการเมืองให้ประชาชน นอกจากนโยบาย นปช. ยุทธศาสตร์ ยังจัดศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและพัฒนาการทางความคิด แนวทางการเมืองของประชาชนไทยกลุ่มต่าง ๆ
ถือว่าเราได้บ่มเพาะประชาชนไม่น้อยทางการเมือง ให้เป็นพลเมืองที่ก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จึงสามารถเป็นฐานเพื่อต่อยอดให้เป็นกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า สามารถขยายต่อไปไม่ยาก
เพราะประชาชนที่ก้าวหน้าแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ยึดติดกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล/ผู้นำที่เปลี่ยนแปลงไปในทางล้าหลัง
ประชาชนมีแต่เดินหน้า นปช. เป็นองค์กรแนวร่วมที่มีประวัติศาสตร์การนำพาประชาชนต่อสู้ในช่วงเวลานับสิบปี
ที่ยังไม่ได้รับชัยชนะที่แท้จริง แกนนำจำนวนหนึ่งจึงต้องเผชิญชะตากรรมติดคุก มวลชนก็บาดเจ็บล้มตาย ติดคุก
นี่เป็นหนทางการต่อสู้ของประชาชนที่ยังไม่ได้อำนาจทางการเมืองจริง จะต้องเผชิญชะตากรรมเลวร้าย แต่ประชาชนมากมายยังอยู่ และมีคนรุ่นใหม่ที่เริ่มรับภารกิจต่อสู้ในเวทีต่าง ๆ แม้จะเผชิญชะตากรรมเพียงไร แต่จิตใจยังเต็มเปี่ยมด้วยพลังต่อสู้
ถ้าคิดแบบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการตามชื่อ ก็จะเข้าใจจิตวิญญาณว่า ต้องมีใจกว้างขวางกับมวลมิตร ให้กำลังใจกันและกัน เสนอแนะกันและกัน คำนึงถึงชัยชนะของประชาชนเป็นสำคัญยิ่งกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
จึงอาจถือได้ว่าเป็นนักต่อสู้ตัวจริง แต่ขณะนี้ก็รอคดีที่เข้ามาเป็นระลอกทั้งแพ่งและอาญา...
ถามว่า คนเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หายไปไหน
ถ้าย้อนไปในช่วงใกล้เคียงที่สุด ก็เห็นจะเป็น เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมือง สถาบันพระปกเกล้า แบ่งกลุ่มพรรคการเมืองในศึกเลือกตั้ง 2562 ไว้ก่อนหน้านั้นเป็น 3 ก๊ก(innnews)
แต่ที่น่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นถึงฐานใหญ่ของคนเสื้อแดง และ นปช.ว่าอยู่กันอย่างไร คือ ฐานเสียงของก๊กแรก คือ ก๊กพรรคเพื่อไทย และพันธมิตร อันประกอบด้วย พันธมิตรชั้นใน เป็นกลุ่มที่ถูกวางหมากให้แยกกันตี คือ “เพื่อไทย” นำโดย พ.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
“ไทยรักษาชาติ” นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช จาตุรนต์ ฉายแสง และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดง โดย 2 พรรคนี้เป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนรักทักษิณ ถูกวางกลยุทธ์แยกกันตี โดยเพื่อไทย ที่เป็นพรรคหลัก จะเน้น ส.ส.แบบแบ่งเขต ขณะที่ การเลือกตั้งครั้งก่อนแพ้ 150 เขต จะวางหมากให้ไทยรักษาชาติลงแข่ง โดยไม่เน้นชนะที่เขต แต่เก็บคะแนนจากที่เคยได้มากที่สุด เพื่อสะสมรวมกันเป็นบัญชีรายชื่อ
“เพื่อชาติ” นำโดย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ และ นปช. ที่มีฐานสมาชิกทั่วประเทศ
“เพื่อธรรม” นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ นลินี ทวีสิน หนึ่งในแผนกลยุทธ์แยกกันตี เพื่อชิง ส.ส.เขต แต่คาดว่า อาจจะไม่ส่งผู้สมัครลง
ส่วน พันธมิตร ชั้นนอกของก๊กนี้ เป็นพรรคอิสระ ที่แสดงจุดยืนไม่เอาคสช. ถ้ามีโอกาส ก็พร้อมร่วมรัฐบาลกับกลุ่มเพื่อไทย ที่เห็นได้ชัด เช่น “ประชาชาติ” นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์
“เสรีรวมไทย” นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. เจ้าของฉายา วีรบุรุษนาแก และมือปราบตงฉิน “อนาคตใหม่” นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล “เกียน” นำโดย นำโดย บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ “สามัญชน” นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่ทำหน้าที่อยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทั้ง 13 คน ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ทั้งยังห้ามตั้งพรรคการเมืองใหม่ 10 ปีด้วย
ส่งผลให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก่อนหน้านั้น สำหรับบัตรที่เลือกพรรคไทยรักษาชาติจะถือว่าเป็นบัตรเสียทันที รวมทั้งการเลือกตั้งนอกเขต และเลือกตั้งจริงวันที่ 24 มีนาคม ก็เช่นกัน กกต.ย้ำว่า กาไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นบัตรเสีย
ประเด็นก็คือ เกิดปรากฏการณ์ที่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ตั้งใจที่จะเลือกพรรคไทยรักษาชาติ ต้องเทเสียงไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ เป็นทางเลือกแทน ซึ่งก็ตรงกับนักวิชาการวิเคราะห์เอาไว้ว่า เป้าหมายก็คือ คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ ได้เข้ามาอย่างล้นหลาม ขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานเสียงคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ก็ชนะเลือกตั้งแบบเขตอย่างล้นหลามเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า การคำนวณตามกฎหมายเลือกตั้งแบบใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทย ไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อเลย
นั่นเท่ากับ ปืนใหญ่ทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่จะต่อสู้ในสภาผู้แทนราษฎร อย่างพรรคเพื่อไทย ขาดกระสุนทำลายล้างสูง ไม่อาจคาดหวังได้มากนัก ครั้นจะหวัง ให้พรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวหอกสำคัญ ก็ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมือง แม้แต่ปัญหาภายในก็ยังรับมือไม่ไหวอยู่ในเวลานี้
จนเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมืองอยู่ทุกวันว่า แม้เสียงรัฐบาลจะปริ่มน้ำ แต่ก็ไม่อาจทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้ จนทำเอาคนเสื้อแดงก็ไปไม่เป็นเช่นกัน
สำหรับ นปช. ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ชื่อเดิม แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นองค์กรหลักของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยมีสัญลักษณ์หลักคือ สีแดง และเสื้อสีแดง และมีการใช้เท้าตบและหัวใจตบ เพื่อล้อเลียนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
“นปก.” ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 มาจากการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยุติการชุมนุมเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยกลับมารวมตัวอีกครั้ง เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นปช.กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 จนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเมษายน พ.ศ. 2552 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง และยกกำลังทหารปิดล้อมผู้ชุมนุม จนต้องยุติการชุมนุมเมื่อ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 และแกนนำ 3 คน ได้แก่ วีระ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ ถูกควบคุมตัว และหลายวันต่อมา รัฐบาลก็ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในปีเดียวกัน นปช.ประกาศตัดความสัมพันธ์ และแยกตัวจากเครือข่ายพลังประชาธิปไตยแดงสยาม เนื่องจากมีทัศนคติและจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน
พ.ศ. 2553 นปช.จัดชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม
ต่อมา หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 สมาชิกกลุ่ม นปช.ส่วนหนึ่งหลบหนีไปต่างประเทศ เนื่องจากถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรียกให้มารายงานตัว และอีกส่วนต้องเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมของศาลหลายคนและหลายคดี และหลายคนถูกตัดสินจำคุกด้วย
สำหรับแกนนำ นับจาก วีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธานคนแรก มี มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ เป็นที่ปรึกษา ณัฐวุฒิ เป็นโฆษก
หลังแกนนำ นปช.ชุดที่วีระเป็นประธาน เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นปช.ว่างเว้นจากการมีแกนนำไประยะหนึ่ง โดยในช่วงเวลาดังกล่าว สมบัติ บุญงามอนงค์ มักมีบทบาทเป็นผู้นำมวลชน ในการนัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการ นปช. ชุดรักษาการขึ้น โดยมี ธิดา ถาวรเศรษฐ ภรรยานายแพทย์เหวง รักษาการในตำแหน่งประธาน
ส่วน จตุพร พรหมพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประธาน นปช. ต่อจากนางธิดา ถาวรเศรษฐ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556
“ธิดา” ปลุกคนเสื้อแดงในวันนี้ ดูเหมือนมีสถานการณ์ที่น่าสนใจในสภาผู้แทนราษฎร รองรับอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนของฝ่ายค้าน คือ การตั้งกมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นประเด็นอันแหลมคมที่จ่อทิ้มคอหอย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคาดกันว่าปลายเดือนธันวาคม อาจมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก
ไม่คิกหรือว่า การเมืองนอกสภา แรงกดดันนอกสภา สถานการณ์นอกสภา จะเป็นสิ่งสำคัญ