xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯลั่น “ไทยนิยม” พัฒนา ปชต.ที่เหมาะสมไม่ใช่สนแต่เลือกตั้ง แนะทุกคนปฏิรูปตัวเองเป็น “พลเมืองที่ตื่นตัว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ลั่น “ไทยนิยม” จะช่วยพัฒนาประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคม ไม่ใช่แต่เพียงเปลือกนอกที่สนใจแต่เลือกตั้ง แนะทุกคนปฏิรูปตัวเองให้เป็น “พลเมืองที่ตื่นตัว” ที่มีความคิดเท่าทัน มีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันการณ์ พร้อมขอให้ร่วมสร้างไทยไปด้วยกัน เพื่ออนาคตของลูกหลาน

วันนี้ (3 ก.ค.) เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ทำไมเราต้องพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดไทยนิยม แนวคิดเรื่องไทยนิยมนั้นไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม และก็ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นแนวคิด หรือ way of thinking ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ บนพื้นฐานของความต้องการ ความนิยม ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นความนิยม หรือความเชื่อ ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ที่ถูก ที่ควร ช่วยกันสร้างค่านิยมในสิ่งดีๆ บนพื้นฐานของ การมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไร อยากได้อะไร ได้มาไม่ว่าถูกหรือผิด ก็รับได้หมด คงไม่ใช่แบบนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ไทยนิยมยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดความต้องการของคนในพื้นที่ เรากล่าวมานานแล้ว ความต้องการของ Area Base ในพื้นที่ พูดมานานแล้ว วันนี้เราจะทำให้เป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น ความต้องการของคนในชาติเป็นหลัก สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ร่วมกันแก้โจทย์ หรือปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ เฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ที่เรียกว่าศักยภาพด้วยกลไกของประชารัฐ

เพราะฉะนั้นไทยนิยมจึงเป็นการต่อยอดขยายผลจากประชารัฐ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบร่วม รัฐบาลจึงไปแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อให้เกิดการประสานงาน ร่วมมือกันขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหา

“เมื่อมองในภาพรวมของประเทศ กระบวนการไทยนิยมเช่นว่านี้ ก็จะเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พัฒนาให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศเรา ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกที่สนใจแต่การเลือกตั้ง และให้ความสำคัญแต่เสียงส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเหล่านี้ รัฐบาลนี้ได้เริ่มนำแนวทางไทยนิยม มาใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก” นายกฯระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า เชื่อว่า พวกเราทุกคนคงทราบดี ว่า ปัญหาของประเทศที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนมากที่สุดก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำรายได้ และโอกาสที่กระจายไปไม่ทั่วถึงชุมชนเมืองกับต่างจังหวัด มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและมีมาตรการเพื่อแก้ไขอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดัน ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และยกระดับความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องการสร้างความแน่นอนทางรายได้ สร้างโอกาส และความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ภายใต้หลักของวินัยการเงินการคลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การไม่สร้างภาระด้านงบประมาณ ไม่สร้างหนี้ให้กับประเทศจนเกินตัวในระยะยาว เงินรายได้ของประเทศที่หามาได้ในอนาคต ก็ควรใช้ในการดูแลประชาชนในอนาคต ไม่ควรนำมาใช้หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อดูแลประชาชนในวันนี้มากจนเกินกำลัง ซึ่งหลักคิดนี้จะช่วยตอบโจทย์การสร้างอนาคตของประเทศได้อย่างตรงจุดไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การสร้างอนาคตของประเทศไทยในช่องทางต่างๆ จะสำเร็จสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าปราศจากเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานั้น วันนี้ทุกอย่างค่อยๆ ปรับดีขึ้น ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนและการส่งออก นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ประเทศของเรากำลังทยอยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งให้การเติบโตลงไปสู่ฐานรากได้ดีขึ้น ที่สำคัญเรากำลังมียุทธศาสตร์ชาติที่จะช่วยให้เราทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน ได้เห็นเส้นทางที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมาย ส่วนใครจะวิ่ง ใครจะเดิน ใครจะบิน ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการและศักยภาพของแต่ละคน ใครที่แข็งแรงก็จะไปถึงเป้าหมายได้เร็วหน่อย ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องคอยประคับประคองให้คนที่ยังอ่อนแอ แข็งแรงน้อยกว่า ได้มีโอกาสพัฒนาและก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพราะเราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดและจะมีอิทธิพลต่อการสร้างอนาคตของประเทศมากที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ทันทีก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มที่ตัวเรา ไม่ต้องรอให้คนอื่นเปลี่ยน เพราะภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง อีกทั้งเทคโนโลยีรอบๆ ตัวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้เท่าทัน ไม่พลาดโอกาส ไม่เสียสิทธิที่ควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ รายได้ สังคม สถานะ และการเมือง หากพวกเราทุกคนสามารถปฏิรูปตัวเองให้เป็น Active Citizen พลเมืองที่ตื่นตัว ที่มีความคิดเท่าทัน มีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัวได้ทันการณ์ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากตัวเราเองนี้จะสามารถขยายเป็นวงกว้าง กลายเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่อนาคตของประเทศที่เราต้องการได้เช่นกัน

บทเรียนหรือตัวอย่างล่าสุดที่อาจจะนำมาใช้เป็นอีกมุมมองของ Active Citizen ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย วันนี้พวกเราทุกคนดีใจ ปลาบปลื้มใจที่ภารกิจในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ คนไทยทั่วทุกภาค ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและทั่วโลก จะเห็นได้ว่าห้วงสิบกว่าวันของภารกิจดังกล่าว มีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ด้วยความเป็น Active Citizen ของทุกคน ทุกฝ่าย ในการทำบทบาทของตนเอง ไม่เพียงแต่เราคนไทยที่ดีใจในการประสบความสำเร็จเหล่านี้ ประชาคมโลกต่างก็กล่าวถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สื่อต่างประเทศหลายสำนักถึงกับกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศไทยในสายตาชาวโลกไปเรียบร้อยแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า องค์กรสื่อ ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือไปจากสถาบันภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ทั้งหมดนี้ คุณภาพและความตั้งมั่นในการให้บริการ ให้ข่าวสาร โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการทำงาน จะทำให้องค์กรสื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ดี รวมถึงการเป็นประชาธิปไตยของประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เพราะปัจจุบันนั้น ในยุคที่สื่อเกิดขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็วมากยิ่งขึ้นนี้ การยืนหยัดเพื่อต่อสู้ นำเสนอสิ่งที่ถูกต้องของสื่อหลักถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นทั้งหลัก และแรงบันดาลใจให้กับสื่ออื่นๆ แล้วยังจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางของข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ให้กับประชาชนด้วย คำว่า “สื่อ” มีความชัดเจนในความหมายอยู่แล้วว่าเป็น “ตัวกลาง” ในที่นี้ก็คือ การส่งผ่านข่าว สาร ข้อมูล นโยบาย และมาตรการต่างๆ ให้กับประชาชน

หน้าที่นี้ทำให้สื่อมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อกรอบความคิดและมุมมองของประชาชน และถ้ามองลึกลงไปอีก ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำเสนอจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการทำงาน และปัญหาที่หลายฝ่ายต้องประสบ และอาจจะต้องสร้างความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เกิดการบูรณาการได้ให้มากยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้ ผมขอให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้ร่วมกัน สร้างไทยไปด้วยกัน เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่า ของเราทุกคน” นายกฯ กล่าว
คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [3 สิงหาคม 2561]

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาตลอดรัชกาล โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ หลากหลายโครงการ ทั้งด้านการแพทย์การสาธารณสุข การศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของราษฎร สภาพสังคม และความเจริญทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ถึงพระปฐมบรมราชโองการ ที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์ป่า ดังพระราชปณิธานที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” ดังนี้แล้ว โครงการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า สัตว์ทะเล จึงเกิดขึ้นและแผ่ขยายทั่วประเทศ อาทิ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ให้ชาวบ้านช่วยพิทักษ์ รักษาผืนป่าและต้นน้ำ โครงการป่ารักน้ำ นำความชุ่มชื้นคืนให้ผืนแผ่นดินไทย อีกทั้งทรงสร้างจิตวิญญาณให้ป่า ด้วยการปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติทรงอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลให้เติบโตขึ้น เป็นอาหารชาวโลก เป็นต้น

ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยทั้งยามปกติ และยามฉุกเฉิน ทรงส่งเสริมให้ประชาชนบริจาคโลหิตอย่างแพร่หลาย พระราชทานโครงการหมอหมู่บ้าน หน่วยแพทย์พระราชทาน ทรงรับคนไข้ยากจนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ทรงตระหนักในความสำคัญของการศึกษา และโปรดให้คนไทยทุกคนรู้หนังสือ ทรงสอนเด็กชาวบ้านให้หัดเขียน หัดอ่าน ทรงอบรมให้เป็นคนดี มีความรักชาติ รักแผ่นดินเกิด โปรดให้ชาวบ้านในท้องที่ห่างไกล ได้รับความรู้เพิ่มเติม อันเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้งศาลารวมใจ โดยพระราชทานหนังสือความรู้สาขาต่างๆ ไว้ ณ ศาลาเหล่านี้ ทรงสนับสนุนการสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และพระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กที่ครอบครัวยากจน

นอกจากนี้ ทรงส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพเสริม ด้วยการฝึกหัดงานหัตถกรรม ทั้งงานทอ ถัก จัก สาน ปัก ปั้น ตกแต่ง และ อีกหลากหลายชนิด ต่อมาพัฒนาเป็นโครงการศิลปาชีพ ซึ่งสร้างอาชีพและรายได้แก่ราษฎรหลายล้านคน และเป็นที่มาแห่งงานศิลป์แผ่นดิน เผยแพร่งานศิลปะของชาติให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซึ่งในปีนี้รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ อัคราภิรักษศิลปิน ระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม ศกนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นอัคราภิรักษศิลปิน อันหมายถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ ที่ทรงนำมิติทางวัฒนธรรมมาส่งเสริมอาชีพ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ให้อยู่ดีกินดี อีกทั้งยังส่งผลต่อการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟู มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระเกียรติคุณอันแผ่ไพศาล สถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กร มูลนิธิ สมาคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญากิตติมศักดิ์ เกียรติบัตร เหรียญ รางวัล เป็นจำนวนมาก รวมทั้งน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานาม ซึ่งล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ พระราชจริยวัตร และน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ศกนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ให้ทรงพระเกษมสำราญ บริบูรณ์ด้วยพระจตุรพิธพรชัย เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ ตราบนานเท่านาน

พี่น้องประชาชนที่รัก ในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย ทุกภาคส่วนต่างก็มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบของตน แต่การจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ต้องอาศัยการทำงานบูรณาการกันให้กลมเกลียวอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอ และพยายามปรับวัฒนธรรมการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายพร้อมที่จะร่วมกันทำงาน เพื่อจะวางรากฐานและขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ในการสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายนั้น จำเป็นต้องมีหลักคิดที่ตรงกัน ในการตอบคำถาม 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นแรก ก็คือว่า ทำไมเราต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาอยู่แล้ว เป็นของ สภาพัฒน์ฯ แต่ละกระทรวง ก็มีแผนการทำงานที่กำหนดไว้แล้ว ก่อนอื่นผมขอให้ลองมองปัญหาที่ประเทศเผชิญอยู่ในปัจจุบันทั้งการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ ที่เราจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้อง เช่น การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามไปสู่การค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ประเทศขนาดเล็ก ที่จำเป็นต้องพึ่งพาการค้า และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไทยนั้น เราได้เจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก

นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเองที่หยั่งรากลึกมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ที่เรายังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างยั่งยืน ภาคธุรกิจยังมีข้อจำกัดในการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก เราขาดการลงทุนขนาดใหญ่เพื่ออนาคตในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ รวมไปถึงเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเรายังคงขาดการเตรียมการเพื่อรองรับสภาพสังคมดังกล่าว เราอาจจะเตรียมการยังไม่ได้ดีนัก แต่เราต้องเร่งดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ทั้งในด้านแรงงาน การออม และระบบสาธารณสุข เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ ที่ผมกล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ซึ่งการจะนำพาประเทศให้ผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ ทุกฝ่ายจะต้องมีเป้าหมายเดียวกันต้องมองภาพเดียวกันให้เกิดขึ้น โดยภาพนั้นก็หมายถึงภาพอนาคตประเทศไทยที่พวกเราอยากเห็น อยากจะสร้างไว้ให้กับลูกหลานของเรานั่นเอง

เมื่อพูดถึงอนาคตของประเทศไทย หลายท่านอาจจินตนาการนึกถึงภาพขอประเทศไทยที่แตกต่างกันออกไป เช่น เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน มีโอกาส มีความเสมอภาคในการพัฒนาตนเอง มีระบบสวัสดิการของรัฐที่จำเป็นในการดำรงชีพ อย่างพอเพียงและเหมาะสม เช่น การศึกษา สาธารณสุข การบริการพื้นฐานต่างๆ บ้านเมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต รวมถึงการคมนาคม มีระบบขนส่งมวลชน มีรถไฟฟ้า รถไฟ ที่มากขึ้นและเพียงพอ ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ที่สามารถใช้บริการเหล่านี้ได้แล้วประชาชนต้องเคารพกฎหมาย อยู่ในศีลธรรม และจริยธรรมอันดีงาม ตามแบบแผนวัฒนธรรมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งการจะเดินไปสู่อนาคตที่ดีของประเทศไทยนั้น ที่จะให้เป็นประเทศที่ดีของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้ โดยประชาชน 70 ล้านคน จะต้องมีความรับรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยการกำหนดเป้าหมาย และภาพอนาคตที่เราต้องการเห็น ในอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กที่เกิดในวันนี้จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ในภาวะแวดล้อมของประเทศ ที่จะเอื้อให้พวกเขาสามารถมีความเป็นอยู่และรายได้ที่มั่นคง มีเครื่องมือที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเลือกประกอบอาชีพใด เพื่อจะสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตได้อย่างยั่งยืน และต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งก็คือ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข เศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สังคมเสมอภาคและเป็นธรรม บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน

โดยได้ออกแบบเป้าหมายที่ต้องบรรลุเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ประกอบกันออกมาให้เป็นอนาคตของประเทศ 6 ด้านที่สอดรับกัน เริ่มจาก

1. คนไทยอยู่ดีมีสุขและสังคมไทยสงบ มั่นคง ปลอดภัย
2. ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ที่เหมาะสม
3. ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมและทั่วถึง
4. สังคมไทยมีความเท่าเทียมและความเสมอภาค
5. ประเทศมีความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และ
6. การบริหารจัดการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ และประชาชนเข้าถึงสะดวก

ซึ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่จะถูกนำไปใช้เป็นกรอบความคิดในการจัดทำแผนงานของภาครัฐ แผนปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสภาพัฒน์ ในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ไปสู่ภาพอนาคตของประเทศระยะยาวแล้วก็ถือเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันด้วย

พี่น้องประชาชนที่รัก ผมขอเรียนว่า การมียุทธศาสตร์ประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีและได้ใช้ยุทธศาสตร์เป็นเป้าหมายในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศมานานแล้ว อาทิเช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เราจะมีแผนในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ในระยะยาว ซึ่งผมและรัฐบาลนี้ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งดำเนินการตามแผนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประเทศมีรากฐาน และเป้าหมายในการทำงาน ให้สามารถเดินหน้าและต่อยอดในระยะต่อไปได้

การที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีกฎหมายรองรับ ก็เป็นอีกความตั้งใจที่จะสะท้อนความสำคัญและความมุ่งมั่นของภาครัฐ ที่จะทำให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้เป็นการล็อก หรือบังคับให้ใครต้องทำอะไร อย่างที่หลายฝ่ายนำมาบิดเบือน โจมตี ในขณะนี้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่า เมื่อสถานการณ์หรือปัจจัยแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งต้องเปลี่ยนไป ยุทธศาสตร์ชาติสามารถจะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายและน่ากังวลมากกว่า คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จผลตามที่กำหนดไว้ เพราะไม่ว่ายุทธศาสตร์ชาติจะเขียนดีแค่ไหน มีการปรับให้ทันสมัยเพียงใด แต่หากทุกคนไม่ยอมรับไม่ช่วยกันนำไปขับเคลื่อนตามภาระหน้าที่ของตน เป้าหมาย หรือภาพอนาคตที่วาดหวังไว้นั้น คงเป็นได้แค่เพียงความฝัน

พี่น้องประชาชนที่รักครับ ประเด็นที่ 2 ที่ผมอยากจะหยิบยกเพื่อชวนทุกท่านให้ช่วยกันคิดคือ เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน อันจะช่วยให้เราก้าวไปสู่อนาคตของประเทศที่เราต้องการได้อย่างไร อาทิ

(1) การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำคัญของชาติ
(2) การบริหารราชการตาม กฎหมาย อำนาจ หน้าที่ การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารราชการแผ่นดิน การช่วยเหลือประชาชน
(3) การเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปในเรื่องสำคัญต่างๆ และ
(4) การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้

ซึ่งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาที่เรื้อรังมานานในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน รวมไปถึงการไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ ปัญหาเหล่านี้ถูกเพิกเฉยและละเลย จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากต่อการแก้ไข ส่งผลต่อภาพลักษณ์ และการยอมรับจากประชาคมโลก และบั่นทอนบรรยากาศความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุน จนกลายเป็นปัจจัยที่คอยฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าบ้านเมืองเห็นได้จากอัตราการเจริญเติบโตไตรมาสแรกของปี 2557 ช่วงก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศที่หดตัว หรือติดลบร้อยละ 0.5 เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศช่วงเดือนกันยายน 2557 จึงได้ให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประชาชน และประเทศชาติ โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุข ธุรกิจ และห้างร้านต่างๆ สามารถกลับมาค้าขายได้อย่างคล่องตัว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ริเริ่มการปฏิรูประบบราชการ และกลไกการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอุปสรรคและสาเหตุสำคัญของปัญหาที่เรื้อรังหลายเรื่อง เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีกลไกในการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยลดขั้นตอนและขจัดข้อขัดข้องที่เกิดจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยได้นำผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษ จัดให้มีสัญญาคุณธรรมมีระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อจะลดการทุจริตคอร์รัปน ไปจนถึงการปรับระเบียบ กฎหมาย กฎเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบการได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ ผลจากการปฏิรูปและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตามแนวทางดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันปัญหาต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สถานะของประเทศไทยในเวทีโลกได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ.2018 ทิปรีพอร์ตที่ไทยได้รับการปรับระดับขึ้น มาเป็นเทียร์ 2 เช่นเดียวกับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายไซเตส การทำประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing และ การแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินพลเรือน ICAO ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แล้วเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่น่าพอใจ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 


นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้ปรับอันดับในเรื่อง Ease of doing business ของประเทศไทย จากที่เคยอยู่อันดับที่ 46 มาเป็นอันดับที่ 26 ในปีล่าสุด ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการพัฒนาดีขึ้นอันดับ 2 ของโลกจาก 190 ประเทศอีกด้วย

นอกจากการเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังได้ริเริ่มการปฏิรูปงานด้านอื่นๆ เพื่อปรับโครงสร้าง และวางรากฐานที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อวางเป้าหมายและภาพในอนาคตของประเทศ ผมขอยกตัวอย่างการปฏิรูปที่สำคัญ เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นปัญหาที่สั่งสมมาในอดีต และสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะปฏิรูปและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ได้แก่

1.การปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทุกท่านคงทราบดีว่า ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขาดความสมดุล เนื่องจากเราเน้นในเรื่องการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการเกษตร ขาดการวางแผนการลงทุน ขาดการทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจึงมีนโยบายในการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าการส่งออกจะยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การลงทุนเพื่อจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลจึงได้ริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( อีอีซี ) โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับผลผลิตภาคเกษตรกรรม เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมชั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่อีอีซียังก่อให้เกิด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่จะเป็นรากฐานสำคัญให้กับการเจริญเติบโตในอนาคต อาทิ

1. ทางรางภายในปี 2565 อีก 4 ปีข้างหน้า เราจะได้ใช้บริการโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ที่ไม่ได้มีการลงทุนเป็นเวลากว่า 117 ปี เมื่อดำเนินการทั้งหมดแล้ว ประเทศไทยจะมีรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นเป็น 3,528 กิโลเมตร จากเดิมที่มีอยู่เพียง 358 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงที่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งทั้งเส้นทาง กทม. - นครราชสีมา โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ ระยะต่อไป และโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินหลักของประเทศ คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ใรเรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ คงต้องศึกษากันต่อไป เพราะมีปัญหาในเรื่องของความคุ้มค่าคุ้มทุนด้วย ตอนนี้อย่างน้อยเรามี 1 เส้น ไปก่อน รถไฟฟ้า กทม. และปริมณฑล ที่จะเพิ่มรถไฟฟ้าให้เป็น 11 เส้นทาง

2. ทางถนนได้มีการเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญไปยังพื้นที่ต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้าน มีการขยายเพิ่มทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางพิเศษ 2 เส้นทาง พัฒนาทางหลวงชนบท เพื่อแก้ปัญหาจราจร เพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ เพิ่มสะพานข้าม หรือลอดอุโมงค์ทางรถไฟ เพื่อจะลดอุบัติเหตุ และการสูญเสียที่เห็นเป็นประจำ

3. ทางน้ำ เพิ่มท่าเรือน้ำลึกอีก 6 แห่ง จากเดิม 18 แห่ง พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งเพิ่มการเดินเรือเชื่อมพัทยา-หัวหิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล และ

4. ทางอากาศ เพิ่มท่าอากาศยานเบตง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 320,000 เที่ยวบินต่อปี และรองรับผู้โดยสารรวมทุกสนามบินมากขึ้นราว 70 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ เรายังมีมาตรการรองรับทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อเป็นการวางรากฐานและช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถปรับตัวยกระดับการดำรงชีวิต ในช่วงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศในหลายมิติ เช่น การเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุน เพื่อการประกอบการและใช้จ่ายฉุกเฉิน มาตรการสนับสนุนผ่านการร่วมลงทุนการจัดตั้งศูนย์สนับสนุน และช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในเรื่องหนี้ อนุมัติให้พักชำระหนี้ หรือขยายเวลาชำระหนี้กว่า 10,000 ราย รวมถึงการจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อให้บริการประชาชนที่ไม่สามารถชำระหนี้กับสถาบันการเงินได้ ขณะเดียวกันมีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่จำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ผลงานจากการวางรากฐานการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท การส่งออกใน 6 เดือนแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 11 และจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 จากครึ่งแรกของปีก่อนหน้า และทำให้คาดว่าจีดีพีของประเทศปี 2561 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.2 - 4.7

ในการปฏิรูปภาคการเกษตร ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญและเกิดขึ้นซ้ำซาก ต้นตอนหรือต้นเหตุของปัญหาคือ การส่งเสริมการผลิตโดยการวางรากฐาน ไม่มีการบริหารจัดการผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐมักจะใช้มาตรการในการที่จะแทรกแซง บิดเบือนกลไกตลาด โดยการอุดหนุนราคา ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลในเรื่องของการขาดทุน และสร้างภาระงบประมาณให้กับประเทศแล้ว ยังส่งผลให้เกษตรกรไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีการพัฒนาผลผลิตและคุณภาพ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น รัฐบาลได้ใช้หลักการตลาดนำการผลิต โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตรภายใต้กฎกติกาสากลให้กับเกษตรกร เช่น โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการประกันภัยข้าวนาปี การบริหารจัดการอุปทานในตลาดข้าว ทำให้ปัจจุบัน ราคาข้าวที่ขายได้กระเตื้องขึ้นจากเดิมอย่างต่อเนื่อง โครงการพักชำระหนี้เงินต้น และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกร ได้จัดที่ดินทำกินผ่านคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้แผนที่เกษตร (Agri-Map) เข้ามาช่วย ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต และการรวมกลุ่มเกษตรกรผ่านการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานสินค้า เช่น มาตรฐานจีเอพี หรือ การพัฒนาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ต่อไป การเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอแต่ความช่วยเหลือของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวน และไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของพ่อค้าคนกลาง โรงสี หรือนายทุน อย่างเช่นในอดีต เราต้องเปิดช่องทางนี้ขึ้นมาให้ได้ของเกษตรกรเอง การปฏิรูปด้านสังคมและความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงมาก มีปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการ รัฐบาลให้ความสำคัญ กับการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคให้คนทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การดูแลประชาชนตั้งแต่วัยแรกเกิด โดยมอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูให้กับครอบครัวยากจน

โครงการจ้างงานเร่งด่วน การพัฒนาทักษะฝีมือ การส่งเสริมการจ้างงาน และเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนพิการและผู้สูงอายุ การจัดระเบียบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนขอทาน คนเร่ร่อนและไร้ที่พึ่ง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด และการพัฒนาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เราก็ต้องมีการพัฒนาให้กับข้าราชการเขาด้วย ที่อยู่อาศัยต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ต้องหาวิธีดำเนินการให้ได้ ข้าราชการก็เป็นส่วนสำคัญ ต้องดูแลไปด้วย

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในการจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าเดินทาง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และภาคธุรกิจ ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สามารถประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ ภายใต้โลกใหม่ ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เช่น โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ที่จะเป็นฐานในการปรับตัวของชุมชน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการค้าขายออนไลน์ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางการค้า หรือการบริโภคในรูปแบบใหม่ๆ หรือ supply chain ห่วงโซ่ที่ว่า ที่จะเชื่อมโยงกับโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ เพราะรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนทุกคนให้มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากตัวอย่างการปฏิรูป 2 - 3 เรื่อง ที่ผมได้กล่าวมานั้น จะเห็นว่าหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้ ก็เป็นผลพวงมาจากความร่วมมือ ร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และประชาชน ซึ่งกลไกความร่วมมือนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญของคำว่าประชารัฐ ที่รัฐบาลนี้ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบาย และงานที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยหัวใจสำคัญของแนวทางประชารัฐ ก็คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และมีความเข้าใจถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ร่วมกันคิด หาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยตรวจสอบ ประเมินผล รวมถึงสะท้อนแนวคิดในการแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม เพราะว่ากาจะริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ นั้น ย่อมมีปัญหา มีอุปสรรคในช่วงเริ่มต้นเป็นธรรมดา แต่เราทุกคนต้องกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น แล้วก็นำปัญหาไปสู่การแก้ไข ใช้สติปัญญาในการแก้ไข และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีและยั่งยืนให้มากขึ้นด้วย

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ประเด็นที่สาม ที่ผมอยากเล่าให้ฟังในวันนี้ ก็คือทำไมเราต้องพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดไทยนิยม แนวคิดเรื่องไทยนิยมนั้นไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม และก็ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นแนวคิด หรือ way of thinking ในการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ บนพื้นฐานของความต้องการ ความนิยม ของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเป็นความนิยม หรือความเชื่อ ในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ที่ถูก ที่ควร ช่วยกันสร้างค่านิยมในสิ่งดีๆ บนพื้นฐานของ การมีคุณธรรม จริยธรรมด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไร อยากได้อะไร ได้มาไม่ว่าถูกหรือผิด ก็รับได้หมด คงไม่ใช่แบบนั้น

นอกจากนั้น ไทยนิยมยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดความต้องการของคนในพื้นที่ เรากล่าวมานานแล้ว ความต้องการของ Area Base ในพื้นที่ พูดมานานแล้ว วันนี้เราจะทำให้เป็นจริงเป็นจังมากยิ่งขึ้น ความต้องการของคนในชาติเป็นหลัก สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ร่วมกันแก้โจทย์ หรือปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ เฉพาะของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ที่เรียกว่าศักยภาพด้วยกลไกของประชารัฐ

เพราะฉะนั้นไทยนิยมจึงเป็นการต่อยอดขยายผลจากประชารัฐ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการระเบิดจากข้างใน การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบร่วม รัฐบาลจึงไปแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อให้เกิดการประสานงาน ร่วมมือกันขับเคลื่อน และแก้ไขปัญหา

เมื่อมองในภาพรวมของประเทศ กระบวนการไทยนิยมเช่นว่านี้ ก็จะเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พัฒนาให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศเรา

ไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอกที่สนใจแต่การเลือกตั้ง และให้ความสำคัญแต่เสียงส่วนใหญ่ โดยไม่สนใจเสียงส่วนน้อยเหล่านี้ รัฐบาลนี้ได้เริ่มนำแนวทางไทยนิยม มาใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก

ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงทราบดี ว่าปัญหาของประเทศที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนมากที่สุดก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำรายได้ และโอกาสที่กระจายไปไม่ทั่วถึงชุมชนเมืองกับต่างจังหวัด มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและมีมาตรการเพื่อแก้ไขอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดัน ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน และยกระดับความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ต้องการสร้างความแน่นอนทางรายได้ สร้างโอกาส และความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน ภายใต้หลักของวินัยการเงินการคลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การไม่สร้างภาระด้านงบประมาณ ไม่สร้างหนี้ให้กับประเทศจนเกินตัวในระยะยาว เงินรายได้ของประเทศที่หามาได้ในอนาคต ก็ควรใช้ในการดูแลประชาชนในอนาคต ไม่ควรนำมาใช้หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อดูแลประชาชนในวันนี้มากจนเกินกำลัง

ซึ่งหลักคิดนี้จะช่วยตอบโจทย์การสร้างอนาคตของประเทศได้อย่างตรงจุดไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในปัจจุบัน

สำหรับโครงการไทยนิยม ยั่งยืนนี้ ก็จะเป็นกิจกรรมที่มีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบกลไกประชารัฐ เพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงของชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ผ่านการวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน เพื่อจะจัดทำแผนแก้ไข และสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ในการที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน

ก็จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหา หรือสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ไม่ได้มาจากการวางแผนจากส่วนกลางแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่เองด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ปัญหาและข้อจำกัดของตัวเองดีกว่า

ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในการนำผู้เชี่ยวชาญลงไปในพื้นที่ ช่วยนำเสนอโครงการหรือแผนงานเพื่อให้ได้งบประมาณที่เหมาะสม และดูแลให้โครงการมีความสอดคล้อง เชื่อมต่อกับแผนงานของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมความไปถึงงบประมาณท้องถิ่นด้วย

โดยจะมีการติดตาม ประเมินผล การให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป มากกว่าแนวทางที่เคยดำเนินการมาในช่วงก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมานั้น โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ได้มีการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของประชาชนทุกหมู่บ้าน 4 ครั้ง มีประชาชนเข้าร่วมกว่า 8 ล้านคน โดยประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนสภาพของปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ มีการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ วิธีการ หรือโครงการที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชน ในขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงาน คอยอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีแผนงานที่เสนอขอรับงบประมาณขึ้นมา แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย

(1) โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้ "โดยตรง" 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว และโรงสี

(2) โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้ "โดยอ้อม" 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร ขุดลอกสระ-ห้วย-หนอง-คลอง-บึง และ ลานอเนกประสงค์ - สาธารณประโยชน์

(3) โครงการประเภทเสริมสร้างคุณภาพชีวิต 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน, ศาลากลางบ้าน ศาลาประชาคม หรืออาคารเอนกประสงค์ และการปรับปรุงซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน

ทั้งนี้ โครงการไทยนิยมยั่งยืนนับเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สำคัญ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นโครงการที่รัฐทำเพื่อประชาชน รับฟังประชาชน และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกแบบโครงการที่เหมาะสมอย่างแท้จริง ซึ่งผลสำเร็จของแต่ละโครงการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวของประชาชนเอง

ทั้งนี้ โครงการนี้จะเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะประเมินผลโครงการและนำมาปรับปรุงกิจกรรมการดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในชนบทให้ดีขึ้นต่อไป

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ ทั้ง 3 ประเด็นที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ก็เพื่อจะบอกทุกท่านว่าการสร้างอนาคตของประเทศไทยในช่องทางต่างๆ จะสำเร็จสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าปราศจากเป้าหมายที่เป็นหนึ่งเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานั้น วันนี้ทุกอย่างค่อยๆ ปรับดีขึ้น ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น การขยายตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น การลงทุนและการส่งออก นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น ประเทศของเรากำลังทยอยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งให้การเติบโตลงไปสู่ฐานรากได้ดีขึ้น ที่สำคัญเรากำลังมียุทธศาสตร์ชาติที่จะช่วยให้เราทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกัน ได้เห็นเส้นทางที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมาย ส่วนใครจะวิ่ง ใครจะเดิน ใครจะบิน ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการและศักยภาพของแต่ละคน ใครที่แข็งแรงก็จะไปถึงเป้าหมายได้เร็วหน่อย ในส่วนของรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะต้องคอยประคับประคองให้คนที่ยังอ่อนแอ แข็งแรงน้อยกว่า ได้มีโอกาสพัฒนาและก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เพราะเราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดและจะมีอิทธิพลต่อการสร้างอนาคตของประเทศมากที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ทันทีก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มที่ตัวเรา ไม่ต้องรอให้คนอื่นเปลี่ยน เพราะภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง อีกทั้งเทคโนโลยีรอบๆ ตัวที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้เท่าทัน ไม่พลาดโอกาส ไม่เสียสิทธิที่ควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจใด รายได้ สังคม สถานะ และการเมือง หากพวกเราทุกคนสามารถปฏิรูปตัวเองให้เป็น Active Citizen พลเมืองที่ตื่นตัว ที่มีความคิดเท่าทัน มีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รอบตัวได้ทันการณ์ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากตัวเราเองนี้จะสามารถขยายเป็นวงกว้าง กลายเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่อนาคตของประเทศที่เราต้องการได้เช่นกัน

บทเรียนหรือตัวอย่างล่าสุดที่อาจจะนำมาใช้เป็นอีกมุมมองของ Active Citizen ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย วันนี้พวกเราทุกคนดีใจ ปลาบปลื้มใจที่ภารกิจในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ คนไทยทั่วทุกภาค ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและทั่วโลก จะเห็นได้ว่าห้วงสิบกว่าวันของภารกิจดังกล่าว มีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ด้วยความเป็น Active Citizen ของทุกคน ทุกฝ่าย ในการทำบทบาทของตนเอง ไม่เพียงแต่เราคนไทยที่ดีใจในการประสบความสำเร็จเหล่านี้ ประชาคมโลกต่างก็กล่าวถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สื่อต่างประเทศหลายสำนักถึงกับกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศไทยในสายตาชาวโลกไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์นี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ ถ้าพวกเราทุกคนร่วมมือกัน ไม่ว่าปัญหาจะหนักหนาแค่ไหน เราคนไทยก็สามารถจะผ่านพ้นไปได้ ผมมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสความท้าทายของโลก และมีอนาคตประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ หากเราร่วมมือ ร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน

วันนี้ก็มีภาพยนตร์ วีดีทัศน์ ขึ้นไปฉายอยู่บนเครื่องบินของการบินไทยแล้ว เรื่องการทำงานที่ถ้ำหลวง ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้โดยสารทั้งหมดที่ใช้บริการของการบินไทยได้รับทราบไปด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนว่า องค์กรสื่อ ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือไปจากสถาบันภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ทั้งหมดนี้ คุณภาพและความตั้งมั่นในการให้บริการ ให้ข่าวสาร โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการทำงาน จะทำให้องค์กรสื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตที่ดี รวมถึงการเป็นประชาธิปไตยของประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เพราะปัจจุบันนั้น ในยุคที่สื่อเกิดขึ้นในรูปแบบที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็วมากยิ่งขึ้นนี้ การยืนหยัดเพื่อต่อสู้ นำเสนอสิ่งที่ถูกต้องของสื่อหลักถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นทั้งหลัก และแรงบันดาลใจให้กับสื่ออื่นๆ แล้วยังจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางของข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ให้กับประชาชนด้วย คำว่า "สื่อ" มีความชัดเจนในความหมายอยู่แล้วว่าเป็น "ตัวกลาง" ในที่นี้ก็คือ การส่งผ่านข่าว สาร ข้อมูล นโยบาย และมาตรการต่างๆ ให้กับประชาชน

หน้าที่นี้ทำให้สื่อมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อกรอบความคิดและมุมมองของประชาชน และถ้ามองลึกลงไปอีก ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำเสนอจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการทำงาน และปัญหาที่หลายฝ่ายต้องประสบ และอาจจะต้องสร้างความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เกิดการบูรณาการได้ให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผมขอให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ได้ร่วมกัน สร้างไทยไปด้วยกัน เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่า ของเราทุกคน

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัย สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น