“ประยุทธ์” ประชุม คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบกรอบจัดทำแผนแม่บท 6 ด้าน ดึง ป.ย.ป.-สศช.-หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ นัดประชุมคิกออฟ 6-8 ส.ค.นี้ คาดเสนอ ครม.ได้ ต.ค.-พ.ย. 61
วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 4/2561 โดยมีประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะเข้าร่วม โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศเบื้องต้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมวลผลผ่านระบบ eMENSCR พบว่ากระทรวงและเทียบเท่า จำนวน 19 หน่วยงาน รัฐสภา และหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวง จำนวน 5 หน่วยงาน ได้ส่งแผนงานและโครงการรวมทั้งสิ้น 6,456 แผนงาน/โครงการ โดยเป็นแผนงานหรือโครงการที่มีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมทั้งสิ้น 3,211 แผนงาน/โครงการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ภายใต้แนวคิด “สร้างไทยไปด้วยกัน” ภายใต้ 6 กลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้แก่ 1. แก้จน สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 2. แก้เหลื่อมล้ำ รายได้ โอกาส อำนาจ สิทธิ และศักดิ์ศรี 3. แก้โกง ทำห้องให้สว่างและบังคับใช้กฎหมาย 4. ปฏิรูปราชการกระจายอำนาจ ลดขนาด 5. สร้างการมีส่วนร่วม และ 6. สร้างอนาคต ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการกิจกรรม โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเตรียมการจัดทำร่างแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้บรรลุ 20 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะจัดทำ 1 แผนแม่บทต่อยุทธศาสตร์ และมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี โดยสามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 10 ปี โดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ได้เสนอหัวข้อประเด็นสำคัญในการจัดทำแผนแม่บทแต่ละด้าน ได้แก่
1. ด้านความมั่นคง ประกอบด้วย การรักษาความสงบภายในประเทศ การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ และการพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประกอบด้วย การเกษตรสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมและบริการ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่
3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาในการสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ
4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้แก่ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก การปฏิรูประบบภาษีและการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างหลักประกันสังคม (รวมประเด็นแรงงาน การศึกษา และสาธารณสุข) เรื่องกระบวนการยุติธรรม การกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การเสริมสร้างพลังทางสังคม และการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งพาตนและจัดการตนเอง
5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมสีเขียว สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ และ 6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ได้แก่ บุคลากรภาครัฐ ระบบ/กลไก และโครงสร้างภาครัฐ การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรม กฎหมาย และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ที่ประชุมได้เน้นย้ำว่าการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเป้าหมาย และแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติลงสู่แผนระดับที่ 2 และแผนงาน โครงการในระดับต่างๆ ต่อไป โดยต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญ ได้แก่ แผนงานหรือโครงการที่จะบรรจุไว้ในแผนแม่บทฯ ต้องมีความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต้องกำหนดรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือหน่วยงานรับผิดชอบหลักที่จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแต่ละกิจกรรม รวมทั้งต้องคำนึงถึงขีดความสามารถทางการเงินและการคลังของประเทศในการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ และพิจารณาภาพรวมการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้แผนแม่บทฯ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบการจัดทำแผนแม่บทฯ และการกำหนด Program Structure เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นยุทธศาสตร์ แผนงานในระดับรองต่างๆ อาทิ แผนการปฏิรูปประเทศ และหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบการมอบหมายให้ข้าราชการกลุ่ม ป.ย.ป.ของแต่ละกระทรวง เข้าร่วมการจัดทำแผนแม่บทฯ กับคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ สศช. โดยจะดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Kick-off) ในวันที่ 6-8 สิงหาคม 2561 และดำเนินการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 และคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีได้ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2561 ตามลำดับต่อไป