xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ใหม่บังคับใช้วันนี้ ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งเถรสมาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่ กำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย มีผลบังคับใช้วันนี้

วานนี้ (17 ก.ค.) ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย โดยให้สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยเหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้ ทั้งนี้ ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็คือวันนี้เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๖๑

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๑”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๕ ตรี เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแล การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัตินี้”

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคเจ็ดของมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
“ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจที่จะทรงพระกรุณาโปรด หรือมีพระราชวินิจฉัย ให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูปซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์
การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งและการดำเนินการตามมาตรา ๑๕ (๔) และวรรคสอง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้”

มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก
ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ พระมหากษัตริย์อาจทรงแต่งตั้งพระภิกษุตามมาตรา ๑๒ รูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคสองให้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๕ ทวิ พระบรมราชโองการตามมาตรา ๑๐ วรรคเจ็ด การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ตามมาตรา ๑๒ และการให้กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๒๐/๑ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐/๒ การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๒๐/๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
“มาตรา ๒๐/๒ การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น”

มาตรา ๑๑ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็นผาสุกแก่ประชาชนและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมายให้เป็นการสืบทอดและธำรงรักษาไว้ ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้






กำลังโหลดความคิดเห็น