กฤษฎีกากำหนดวาระประชุมคณะพิเศษพรุ่งนี้ พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ให้หลักการใหม่ เป็นพระราชอำนาจทรงแต่งตั้ง กก.มส. ยกเลิกโดยตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ 7 วัน
วันนี้ (24 มิ.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรกฤษฎีกาได้เผยแพร่ วาระการประชุมคณะกรรการฯ (คณะพิเศษ) ในวันที่จันทร์ที่ 25 มิ.ย.นี้ จำนวน 8 วาระ โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือวาระแรกในเวลา 09.30 น. จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ณ ห้องประชุมโบราณ ชั้น 2 ตึกเก่า สำนักงานคณะกรรกฤษฎีกา มีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเจ้าของเรื่อง
ก่อนหน้านั้น สำนักงานคณะกรรกฤษฎีกาว่า เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 รับหลักการให้มีการจัดทำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในประเด็นเกี่ยวกับมหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 เมษายน 2560 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ดังกล่าว จึงเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน ดังนี้
สภาพปัญหา มหาเถรสมาคมตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานกรรมการ สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและพระราชาคณะอีกไม่เกิน 12 รูปซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งเป็นกรรมการและมีวาระ 2 ปี
แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า สมเด็จพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาลจึงชราภาพ และอาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้สม่ำเสมอ บางครั้งจำเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เหตุอย่างเดียวกันอาจเกิดได้แม้กับกรรมการอื่นซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง
นอกจากนั้น กรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญาหรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตำแหน่งจึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่องค์กรนี้จะต้องเป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์และก่อให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสงฆมณฑล
จึงสมควรปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเสียใหม่เพื่อให้ได้พระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควรมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการและผู้ปกครองคณะสงฆ์ในลำดับชั้นต่างๆ ตลอดจนชักนำให้เกิดการปฏิรูปหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์และการจัดระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับวัดและวัตรปฏิบัติของพระภิกษุให้เรียบร้อยดีงามตามพระธรรมวินัย กฎหมายของบ้านเมือง ความคาดหมายของพุทธศาสนิกชน และจารีตประเพณีอันดีงามของชาติ
ทั้งนี้ยังคงให้มีกรรมการอื่นนอกจากประธานกรรมการในจำนวนเท่าเดิม (20 รูป) แต่ถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้มีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรที่เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดำริเห็นสมควรให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายคณะสงฆ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามกฎหมายนี้
จึงขอเชิญพระภิกษุและบุคคลทั่วไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการตามประเด็นดังกล่าวเข้ามาได้ทางเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561