xs
xsm
sm
md
lg

สรุป 2 หน้า “กฤษฎีกา” ยึดเห็นแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ตั้ง มส.เป็นพระราชอำนาจ คง “นายกฯ” รับสนอง แม้พระภิกษุ-ปชช.ทั่วไป เสนอ “นักการเมือง” ห้ามยุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดสรุป 2 หน้ากระดาษ กฤษฎีกา “คณะพิเศษ” เผยแพร่ผลรับฟังความคิดเห็น “แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์” ระบุ รับฟังจากทั้งผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีกำกับ ผอ.สำนักพุทธฯ พระภิกษุ และประชาชนทั่วไป แก้ไขถ้อยคำ “ตั้ง 20 กรรมการมหาเถรสมาคม” ย้ำ เป็นพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ คง “นายกฯ” ทำหน้าที่เป็นเพียงรับสนองพระบรมราชโองการ แม้พระภิกษุ และประชาชนทั่วไป เสนอ “ห้ามนักการเมือง” ยุ่งเกี่ยว หวั่นก้าวก่าย สร้างผลประโยชน์

วันนี้ (28 มิ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ลงนามรับรองการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.krisdika.go.th ในการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ และเจ้าคณะภาค ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จนถึงวันที่ 27 มิ.ย. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในคณะสงฆ์ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา และองค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยมีทั้งสนับสนุน และไม่เห็นด้วยนั้น

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น http://web.krisdika.go.th/data/news/news12790.pdf ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมหาเถรสมาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และ ผอ.สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าวแล้ว โดยได้นำมาประกอบการพิจารณา เห็นว่า บทบัญญัติที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์ มีพระราชอํานาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม นั้นเป็นพระราชอํานาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงเป็นพระราชอํานาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กําหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงได้แก้ไขถอยคําให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สําหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอํานาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการ
แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง นั้น

“คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกําหนดขึ้น
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจําเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กําหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน”

อ่านความเห็นฉบับเต็ม สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

1. ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) ได้นำข้อมูลดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

1.1 ความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ของสำนักงานฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2561 เป็นระยะเวลา 7 วัน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับหนังสือแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป สำนักงานพระสงฆ์และองค์กรเครือข่าย สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์โดยการกำหนดให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์จะทำให้ได้มาซึ่งพระภิกษุผู้มีความรู้ มีจริยวัตรที่ดีและมีพรรษาที่เหมาะสมได้เข้ามาปกครองดูแลคณะสงฆ์ลดการเกิดระบบอุปถัมภ์ในหมู่คณะสงฆ์ อีกทั้งจะทำให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปอย่างคล่องตัวและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่าการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระแก่พระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรหรือไม่ และต้องระมัดระวังไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งควรคำนึงถึงหลักพระธรรมวินัยในการแต้งตั้งพระภิกษุผู้มีพรรษาน้อยหรือลำดับชั้นของสมณศักดิ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ในการปกครองดูแลคณะสงฆ์

1.2 ในการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ผู้แทนมหาเถรสมาคม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) ได้นำความเห็นที่ได้รับข้างต้นทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว อาจสรุปในส่วนที่เป็นสาระสำคัญได้ดังนี้

กรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควร นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม นั้น เป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีจึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชนทางการเมือง นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกำหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจำเป๋นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น