xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จ่อพิจารณาร่าง กม.สงฆ์ 3 วาระรวด กฤษฎีกาชี้กษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“หมอเจตน์” เผย ประชุม สนช.พรุ่งนี้ จ่อพิจารณาร่างกฎหมายสงฆ์ 3 วาระรวด กฤษฎีกา ชี้กษัตริย์มีพระราชอำนาจตาม รธน.ในการแต่งตั้งพระภิกษุ ส่วนนายกฯจำเป็นต้องเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

วันนี้ (4 ก.ค.) เมื่อเวลา 16.20 น. ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ในวันที่ 5 ก.ค. นี้ จะมีการประชุม สนช. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 สามวาระรวด โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งนี้ จะมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้แจง

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general ได้เผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า กรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) นั้น เป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีดังกล่าวจึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขั้น เพื่อให้เป็นตามความมุ่งหมายดังกล่าว

สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้ง มส. เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น