“บิ๊กวิน” จ่อชงร่างข้อบัญญัติงบรายจ่าย กทม.ปี 62 วงเงินประมาณการ 80,445.80 ล้าน วันพุธนี้ จากประมาณการรายรับ วงเงิน 80,750.61 ล้าน ด้าน ปธ.สภาฯ นัด ส.ก.แต่งตั้งถกรับร่างฯ สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 3) คาดประมาณการสูงกว่างบรายจ่ายปี 61 จำนวน 79,047 ล้าน กว่า 1 พันล้าน เผยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนสภาพัฒน์ฉบับ 12 ตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 แผนพัฒนา กทม. 20 ปี รวมถึงนโยบายผู้ว่าฯ กทม.
วันนี้ (16 ก.ค.) แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหาคร เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งเชิญประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 3) ประจำปัพุทธศักราช 2561 ณ ห้องประชุมสภา กทม. ในเวลา 10.00 น. โดย พล.ต.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในวาระที่ 3.2
ทั้งนี้ ผู้บริหาร กทม.จะเสนอร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยจำแนกเป็นประมาณการรายรับ วงเงิน 80,750.61 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ก.) ประมาณการรายรับของ กทม. วงเงิน 80,000 ล้านบาท ข.) ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของ กทม. วงเงิน 750.61 ล้านบาท
ประมาณการรายจ่าย 80,445.80 ล้านบาท ประกอบด้วย ก.) ประมาณการรายจ่ายของ กทม. วงเงิน 80,000 ล้านบาท ข.) ประมาณการณ์รายจ่ายของการพาณิชย์ ของกทม. วงเงิน 445,80 ล้านบาท
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภากรุงเทพมหานครได้จัดการสัมมนาของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้การเตรียมการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล
การสัมมนาเห็นว่า ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ของ กทม.จำนวนกว่า 79,047 ล้านบาท ที่ผ่านมานั้น สภา กทม.ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สำหรับงบประมาณในปี 2562 ซึ่งจะมีงบประมาณ 80,000 ล้านบาท ยังคงต้องพิจารณาโดยยึดหลักการเดิม คือความจำเป็นของโครงการ มีวินัยทางการเงิน โปร่งใสและคุ้มค่าประโยชน์ที่ได้รับ
โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ แต่ต้องเพิ่มหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การคำนึงถึงความสอดคล้องและเชื่อมโยงของโครงการต่างๆ กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561-2565) รวมทั้งแผนงานการพัฒนาตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร