xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ตั้ง 38 กมธ.ศึกษายุทธศาสตร์ ให้ความเห็นชอบ 7 ก.ค. “วิษณุ” ชี้ผูกมัด 5 ประการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
สนช.ถกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน “วิษณุ” เผยผูกมัด 5 ประการ เตรียมทำแผนแม่บทให้สอดคล้อง พร้อมตั้ง กมธ.38 คน ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้ความชอบภายใน 7 ก.ค.

วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณารับทราบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ทั้ง 6 ด้าน คือ 1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้จะเป็นฉบับแรกตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในประเทศไทย สิ่งที่ใกล้เคียงกับยุทธศาสตร์ชาติมากที่สุด คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่มีข้อจำกัดเป็นแผนระยะสั้นในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นจึงต้องกำหนดเป้าหมายแผนให้ยาวจึงกำหนดไว้ 20 ปีในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะบังคับตั้งแต่ปี 2561-2580 ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานนี้ กฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องมีการปรับปรุงทุก 5 ปี และในระหว่าง 5 ปี หากสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านสามารถยกขึ้นมาปรับปรุงได้ แล้วแจ้งให้ ครม.รับทราบ และเมื่อเห็นว่าต้องปรับปรุงก็แจ้งให้สภาฯ ทราบ เมื่อได้รับความเห็นชอบก็เสนอแก้ไขได้ โดยจะแก้เฉพาะหน้า เฉพาะตอน หรือทั้งเล่มก็ได้ แต่ไม่ได้ผูกพันรัฐบาลที่มาในอนาคตจนกระดิกไม่ได้ เพียงแต่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามต้องแก้ไขยุทธศาสตร์ก่อน

นายวิษณุกล่าวต่อว่า เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ประการ ประกาศใช้แล้วจะผูกมัด 5 ประการ 1. รัฐบาลต้องแถลงต่อสภาในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะต้องคำนึงถึงว่านโยบายที่แถลงต้องไม่ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ชาติ และไม่ซ้ำซ้อน 2. ผูกพันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3. การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนระดับชาติจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 4 .กฎหมายกำหนดไว้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเห็นว่าแม้ยุทธศาสตร์ชาติยังไม่มีผลบังคับใช้ การจัดทำงบประมาณปี 2562 ก็จัดทำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ก่อนแล้ว และ 5. แผนการปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้อกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เมื่อมีการประกาศชาติยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต และแผนแม่บท หากแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือขัดแย้งกับแผนแม่บท ก็ต้องไปแก้ไขแผนปฏิรูป 11 ด้าน รวมทั้งปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตามจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำแผนแม่บท ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งขณะนี้แผนแม่บทยังไม่ได้ยกร่าง โดยจะใช้เวลาเตรียมการยกร่างแล้วเสร็จใน 2 เดือนก็เสนอต่อสภา นอกจากนั้น กระทรวง ทบวงกรม จะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ต้องนำเข้าสภา” นายวิษณุกล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆ ต่อได้ ซึ่งก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา พบว่า เศรษฐกิจของไทยโตเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้าน โตร้อยละ 5-6 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ได้ ซึ่งส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี สิงคโปร์ 20 ปี ขณะที่มาเลเซียรวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้น การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติก็เพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และควรให้มีการบูรณาการการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติกับหน่วยงานราชการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไปในแผนแม่บทด้วย โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญๆ และควรสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นของประชาชนทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นโดยใช้เวลา 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบ จำนวน 38 คน กำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน โดยมีการประชุมนัดแรกวันนี้ (15 มิ.ย.) และเสนอกลับมาสภาฯ ให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น