xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ วางกรอบพัฒนาสังคม-ศก.กำหนดแผนทุก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ทีมโฆษกรัฐบาลเผย ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒน์ กำหนดกรอบพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดแผนทุก 5 ปี แต่ปรับได้หากโลกเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ จากฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 โดยกำหนดให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน และประธาน 1 คน และกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ ก.พ.ร. เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาตร์ชาติ ทั้ง 6 ด้าน และเลขาธิการสภาพัฒน์ รวมทั้งหมด 24 คน

ทั้งนี้ สภาพัฒน์จะมีอำนาจกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพทางการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และของโลก นอกจากนี้ยังมีหน้าที่จัดทำร่างเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้ความเห็น คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงานและโครงการพัฒนา รวมถึงมีหน้าที่เสนอ และพิจารณางบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ใช่องค์การมหาชน อีกทั้งสภาพัฒน์มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง เพื่อดำเนินการในเรื่องที่เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องพิจารณาดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนิ้กำหนดให้ต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปี ที่ต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาตร์ชาติ สภาพการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และของโลก โดยกำหนดชัดเจนว่าต้องมีเนื้อหาด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาเมืองและภูมิภาค การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสภาพัฒน์เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯในแต่ละด้าน อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาฯสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ เมื่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เมื่อแผนพัฒนาฯ ถูกประกาศใช้ หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำแผนปฎิบัติการประจำปี และจะต้องรายงานการปฏิบัติงาน และประเมินผลการปฏิบัติราชการต่อสำนักงานสภาพัฒน์ทุกๆ ปี

ทั้งนี้ บทเฉพาะกาลกำหนดว่า คณะกรรมการสภาพัฒน์ชุดปัจจุบันจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ ไม่เกิน 180 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับมีผลใช้บังคับ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะสามารถใช้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น