xs
xsm
sm
md
lg

แจ้งผลลงโทษคดีแพ่งตาม กม.หลักทรัพย์ฯ ครบ 1 ปี สั่งฟัน 27 ราย 10 คดี ปรับเงิน 53 ล้านเข้าคลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.รับทราบผลลงโทษคดีทางแพ่ง รอบ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 5 เผย ก.ล.ต.ชงคดี “อินไซเดอร์-คดีหลักทรัพย์” ฟันผู้กระทำความผิด 27 ราย รวม 10 คดี เผย 9 คดี 25 ราย ยินยอมชำระค่าปรับ 53 ล้าน นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้กับกระทรวงการคลัง พบ 1 คดีผู้กระทำผิด 2 รายไม่รับผิด ส่งอัยการสูงสุดฟ้องคดีแล้ว

วันนี้ (6 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับทราบผลการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง ของผู้กระทำความผิดภายหลังการใช้บังคับมาตรการลงโทษทางแพ่งตามพระราบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 (กฎหมาย ก.ล.ต.)

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับบริหารราชการกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบให้เสนอ ครม.ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการการเสนอเรื่องและประชุม ครม. พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (13) ภายหลังสำนักงานหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประเมินผลสัมฤกธิ์ของมาตรการลงโทษทางแพ่งเพื่อใช้ควบคู่กับมาตรการลงโทษทางอาญา โดยการตรวจสอบจำนวนคดีที่เกิดขึ้นภายหลังพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ไปแล้ว 1 ปี

“สรุปผลการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งของสำนักงาน ก.ล.ต.ได้แจ้งผลการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ กับผู้กระทำความผิดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 12 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยรายงานว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ได้เสนอคดีให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) พิจารณาใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิด 27 ราย รวม 10 คดี ในการนี้มี 9 คดีที่ผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งผู้กระทำความผิด 25 ราย ได้ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำความผิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 53,886,640.87 บาท โดยสำนักงาน ก.ล.ต.ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้แก่กระทรวงการคลังแล้ว”

อย่างไรก็ดี มี 1 คดีที่ผู้กระทำความผิด 2 รายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ได้นำส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อศาลแพ่งแล้ว ส่วนคดีที่มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับต่อผู้กระทำความผิด เป็นคดีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 5 สำหรับการกระทำที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดที่สามารลดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดได้ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 5 ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาความผิด จึงยังไม่มีข้อมูลหรือสถิติคดีการกระทำความผิดดังกล่าวที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้บังคับ มาตรการลงโทษทางแท่ง

มีรายงานว่า สำหรับการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกันมาตรการลงโทษทางแพ่ง มีการกำหนดประเภทความผิดที่สามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ การแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงในเอกสารที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติ หน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความชื่อสัตย์สุจริต การใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี Nominee ในการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่งมี 5 มาตรการ ได้แก่ (1) ค่าปรับทางแพ่ง (2) การชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับไปจากการกระทำความผิด (3) การห้ามเช่าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในระยะเวลา ที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 5 ปี (4) ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 10 ปี และ (5) การชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืนให้กับ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ประกอบด้วย อัยการสูงสุด เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นกรรมการ โดยทำหน้าที่พิจารณาว่าสมควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง กับผู้กระทำความผิดนั้นหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ควรนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป แต่หากเห็นควรให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ ให้ดำเนินวิธีการ ในการบังคับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามควรแก่กรณี


กำลังโหลดความคิดเห็น