xs
xsm
sm
md
lg

“ทวิช” ร้อง ก.ล.ต.สอบ “หมอวิชัย-ศุภนันท์” ทำลายความเชื่อมั่นตลาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ทวิช เตชะนาวากุล” ผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ IFEC ร้อง ก.ล.ต.สอบ “นพ.วิชัย-ศุภนันท์” โทษฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์-พ.ร.บ.มหาชน ใน 5 ประเด็นหลัก “ขวางตั้งบอร์ดชุดใหม่-กระทำการในนามบริษัททั้งที่ไม่มีอำนาจลงนาม-ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ-หาเหตุไม่คืนหนี้โรงแรมดาราเทวี จนถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท-ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย” สร้างความเสียหายให้เกิดกับผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ ทำลายความเชื่อมั่นตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสายตานักลงทุนไทย และต่างชาติ พร้อมร่อนหนังสือถึง นพ.วิชัย-ก.ล.ต.-ตลาดฯ ค้านการประชุม และมติบอร์ด IFEC ในวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ถือว่าเป็นมติบอร์ด เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

วันนี้ (23 มีนาคม 2560) นายทวิช เตชะนาวากุล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการ และเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงินมูลค่า 100 ล้านบาท บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึง นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ เรือเอกนายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรรมการ IFEC เพื่อขอให้ ก.ล.ต.ดำเนินการตรวจสอบ หาหลักฐานเพิ่มเติม และดำเนินการทางกฎหมายต่อไปเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ นายแพทย์วิชัย และนายศุภนันท์ ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันทำให้บุคคลทั้งสองดังกล่าวขาดความน่าไว้วางใจในฐานะกรรมการบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากการกระทำของบุคคลทั้งสอง
โดยเฉพาะนายวิชัย เข้าข่ายเป็นการกระทำโดยทุจริต โดยยึดถือประโยชน์ และประสงค์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท อันทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ผู้ถือหุ้นของบริษัท เจ้าหนี้ของบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ ของบริษัท รวมถึงยังกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และความน่าเชื่อถือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อนักลงทุนทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ
 
โดยประเด็นที่ร้องเรียนมีด้วยกัน 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การจงใจขัดขวางทำให้บริษัท และผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการเลือกตั้งกรรมการตามกฎหมาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยช้าที่สุด ซึ่งถือเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการหนึ่ง คือ มาตรา 89/7 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่กำหนดให้ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการ และผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งการกระทำของนายวิชัย และนายศุภนันท์ อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ดังกล่าวโดยทุจริตนั้น เป็นความผิดและต้องระวางโทษทางอาญาตามมาตรา 281/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
 
2.นายวิชัย และนายศุภนันท์ กระทำการในนามบริษัทโดยทราบว่า ไม่มีอำนาจตามกฎหมายหลายประการ เช่น กรณีของการจำนำหุ้นของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) อันเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ และมูลค่าสูงของบริษัท ไปจำนำกับบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (L&H) ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนเปิดแอล เอช เอ็นแฮนชท์ เพื่อจำนำหุ้นของ ICAP อันเป็นทรัพย์สินของบริษัท สืบเนื่องมาจากการที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินจำนวน 100 ล้านบาท กับกองทุนเปิดแอล เอช เอ็นแฮนชท์ ซึ่งถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ซึ่งในช่วงเวลานั้น นายวิชัย และนายศุภนันท์ ไม่มีอำนาจกระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้บุคคลทั้งสองกระทำได้เพียงดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการให้เพียงพอเป็นองค์ประชุมเท่านั้น
 
3.การบอกกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ หรืออาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทในประการที่น่าจะทำให้กระทบต่อราคาหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 240 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งตามมาตรา 296 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษทางอาญาด้วย เช่น กรณีการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทฯ ที่นายวิชัย ให้ข้อมูลผ่านสื่อสาธารณะหลายแหล่ง และช่องทางว่า ตนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทโดยได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ของบริษัทที่มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น ปรากฏว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ โดยผิดจากความจริงไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเจ้าหนี้ต่างปฏิเสธว่า ไม่ได้รับการติดต่อหรือเจรจาใดๆ ทั้งสิ้นจากนายวิชัย เกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท และการขายโรงแรมดาราเทวี นายวิชัยให้ข้อมูลต่อหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ในนามของบริษัทว่า กลุ่มบริษัท Guangxi Yifan จะเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท โดยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในสัดส่วนร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 นายวิชัย และ/หรือนายศุภนันท์ ก็ดำเนินการให้บริษัทออกหนังสือชี้แจงไปยัง

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทได้รับการติดต่อจากกลุ่มบริษัท Guangxi Yifan ผ่านทางนายวิชัย เพื่อเจรจาที่จะร่วมลงทุน และหากการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ มีความคืบหน้าอย่างไร บริษัทจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
 
นอกจากนี้ นายวิชัยยังให้ข้อมูลต่อสื่อหลายแหล่ง และช่องทาง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า ตนเองได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือในนามส่วนตัวกับกองทุน Jade Bird Fund จากประเทศจีน เพื่อเสนอขายโรงแรมดาราเทวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทมูลค่า 5,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว นายวิชัยในฐานะกรรมการของบริษัทไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะทำการเสนอขายดังกล่าวโดยไม่ผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทได้

“ในกรณีนี้ แม้การกระทำดังกล่าวของนายวิชัย ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และไม่มีผลผูกพันบริษัทก็ตาม แต่การเข้าลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า กลุ่มบริษัท Guangxi Yifan จะมาลงทุนในบริษัท หรือบริษัทมีความประสงค์จะขายโรงแรมดาราเทวี ทำให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินการของบริษัท และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนด้วย” นายทวิช กล่าว

เกี่ยวกับการจำนำหุ้น ICAP ตามสัญญาจำนำไม่ได้ระบุจำกัดวงเงินของการเป็นประกัน และยังเป็นการประกันหนี้ทั้งในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2560 นายวิชัย และนายศุภนันท์ กลับยินยอม สนับสนุน และไม่โต้แย้งในการที่นายธวัช ให้ข้อมูลในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงแก่ผู้ถือหุ้นในที่สาธารณะในนามของบริษัทว่า การจำนำดังกล่าวจำกัดวงเงินอยู่เพียง 100 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับข้อความจริงตามที่ระบุอยู่ในสัญญาจำนำ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2559 และข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทยังคงเป็นหนี้ตั๋วแลกเงินในกรณีดังกล่าวอยู่รวมทั้งหมด 200 ล้านบาท
 
4.การกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่น เช่น การหาเหตุเพื่อไม่ชำระหนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด โดยที่บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่บริษัท ดาราเทวี จำกัด (ดาราเทวี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ โกลบอลวัน จำกัด (Global One) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของดาราเทวีในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายวิชัยกลับกล่าวหาโดยบอกกล่าวผ่านสื่อสาธารณะหลายแหล่ง และช่องทางว่า Global One ทำการสร้างหนี้ดังกล่าวขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้บริษัทต้องรับผิดชำระหนี้ ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยไม่มีมูลเหตุ และหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใด อันเป็นเหตุให้บริษัทถูก Global One ฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.753/2560 ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100 ล้านบาท ในฐานละเมิดจากการกระทำของนายวิชัย

อีกทั้ง มีการการเลิกจากพนักงานของบริษัทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 25 คน โดยไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ค่าชดเชย และ/หรือค่าเสียหายตามกฎหมายแรงงานให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวนั้น ฟ้องบริษัทเป็นคดีต่อศาลแรงงาน
 
5.การปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง และไม่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะประธานกรรมการบริษัท โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

“ผมเห็นว่า หากยังคงให้นายวิชัย ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการบริษัทต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท และผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก และเป็นบรรทัดฐานให้แก่ ผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์อื่น เอาเป็นเยี่ยงอย่างในการไม่เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับ ของบริษัท และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารงานบริษัทตนในอนาคต ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของนายวิชัย เข้าข่ายเป็นผู้ขาดความน่าไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการของบริษัทต่อไป ผมจึงเข้ามาขอความกรุณาจากสำนักงาน ก.ล.ต. โปรดดำเนินการเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำต่าง ๆ ของนายวิชัยและนายศุภนันท์ ที่เข้าข่ายขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมและดำเนินการทางกฎหมายโดยกล่าวโทษหรือดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลกับนายวิชัย และนายศุภนันท์ ต่อไป” นายทวิช กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการ IFEC ในฝั่งของนายทวิช จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบด้วยนายทวิช เตชะนาวากุล นางสาวประนอม โฆวินวิวัฒน์, นายสมชาย สกุลสุรรัตน์, พลตำรวจเอกสุนทร ซ้ายขวัญ และนายปริญญา วิญญรัตน์ ซึ่งเป็นกรรมการที่แต่งตั้งใหม่ โดยที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2560 ได้ทำหนังสือคัดค้านการประชุม และมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 โดยได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังนายแพทย์วิชัย ในฐานะประธานกรรมการบริษัท
 
ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. และกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย โดยได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 โดยกรรมการทั้ง 5 คนอาศัยสิทธิตามมาตรา 92 (2) แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 เนื่องจากกรรมการที่เหลือเพียง 4 คน ในที่ประชุมนั้น เป็นการไม่ครบองค์ประชุม จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถถือได้ว่าเป็นมติของคณะกรรมการบริษัท และการประชุม และมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ผูกพันกรรมการทั้ง 5 คนแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น