กองทัพเรือจัดพิธีรับ “ซีล” อบอุ่น จัดอุโมงค์น้ำเที่ยวบินเกียรติยศ เสียง “ฮูย่า” ลั่นสนามบินอู่ตะเภา ด้าน ผบ.นสร.ลั่นหน่วยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงฯ เปิดใจถึงหลังบ้านเป็นกำลังใจที่ดี
วันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มอบหมายให้ พล.ร.อ.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานต้อนรับกำลังพลของกองทัพเรือที่เดินทางกลับที่ตั้ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยคณะทั้งหมดมีจำนวน 159 นาย ประกอบด้วย หน่วยซีล 127 นาย นำโดยพล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล กองเรือยุทธการ นอกจากนั้นเป็นกำลังพลจากชุดเวชศาสตร์ทหารเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ กรมสรรพวุธทหารเรือ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และส่วนอื่นๆ อีกจำนวน 32 นาย เดินทางมาถึงโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 ของกองทัพอากาศ และเครื่องบินแอมแบร์ของกองทัพเรือ โดยมีญาติ รวมถึงกำลังพลของกองทัพเรือ หน่วยซีล และประชาชนในพื้นที่มารอต้อนรับและมอบดอกไม้ให้กำลังใจอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ ทร.ได้จัดอุโมงค์น้ำเป็นเกียรติให้เครื่องบินเที่ยวนี้ และเมื่อเดินทางมาถึงได้มีพิธีต้อนรับ และร่วมร้องคำว่า “ฮูย่า” พร้อมกันด้วย
พล.ร.ต.อาภากรกล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมู่ป่า อะคาเดมี ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ก็รีบจัดกำลังพลเดินทางไปช่วยเหลือทันที เมื่อมีอุปสรรคอยู่ตรงหน้าเราก็ไม่ท้อถอย เราบอกว่าเราสู้ เมื่อสู้แล้วมีกำลังใจเยอะ และมีคนสนับสนุนเรามากมาย เพราะคนที่จะเข้าไปถึงน้องๆ ได้ก็คงจะต้องเป็นหน่วยซีลหน่วยเดียวเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นได้ เราจึงต้องเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อนพ้องน้องพี่ซีลที่ปลดประจำการไปแล้วก็มาร่วมงานกับพวกเรา แม้ว่าไม่ได้อยู่ในราชการ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ มากมายมาช่วยเรา เป็นที่ประจักษ์ว่าถ้าเราสู้และไม่ย่อท้อก็จะมีคนสนับสนุนเยอะมาก ในสิ่งที่เราทำลงไปถือว่ามีความเสี่ยงต่อกำลังพล แต่เราถูกฝึกมาให้อดทนเพื่อการณ์นี้ เราฝึกคนมาเพื่อทำงานเสี่ยงๆ ถ้างานง่ายๆ ไม่ต้องถึงมือเรา แต่งานนี้ถือว่าเป็นงานยาก
“ผมเชื่อมั่นในกำลังพลทุกคน และประจักษ์ว่ากำลังพลของหน่วยทุกคนยอดเยี่ยมมาก ขอบคุณกำลังพลของผมทุกคนที่ได้ทำงานนี้จนประสบผลสำเร็จค่อนข้างสมบูรณ์ เราก็เหมือนเฟืองตัวเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเครื่องจักรให้สมบูรณ์ การสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องยากและต้องใช้ใจทำงาน อย่างไรก็ตาม ภารกิจครั้งนี้ได้สูญเสีย 1 นาย คือ จ.อ.สมาน กุนัน ที่เป็นผู้เสียสละ แต่เราก็ไม่เสียขวัญ เพราะเขาจากไปแบบวีรบุรุษของชาวโลก เป็นที่น่าภาคภูมิใจ” ผบ.นสร.กล่าว
ทั้งนี้ พล.ร.ต.อาภากรยังได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจเพิ่มเติมอีกว่า ตนเป็น ผบ.นสร. ใครๆ ก็ฟังและกลัวตนหมด แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่กลัว เขาก็จะให้คำแนะนำว่าสิ่งที่ทำจะเป็นอย่างไรบ้าง คือภรรยาของตน เพราะมีประสบการณ์มาก เคยขึ้นเขาเอเวอเรสต์ และเคยไปแอนตาร์กติกา 4 เดือน จึงช่วยในการประสานเครือข่ายต่างๆ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติ ในภารกิจครั้งนี้มีเครือข่ายอยู่หลายส่วน มีทั้งเปิดตัวแล้วไม่เปิดตัว อีกทั้งตนได้ทำงานร่วมกับทีมงานของนายอีลอน มัสก์
“ภรรยาของผมถือเป็นกำลังใจที่ดี ให้การสนับสนุนตลอด ถ้าผมไม่ได้เขาก็ไม่ได้มาถึงทุกวันนี้ ที่ผ่านมาภรรยาไม่เคยออกหน้าเลย เพราะขออยู่ข้างหลังตลอด ก็ขอขอบคุณเอื้อย (ศศิวิมล อยู่คงแก้ว) ด้วย” พล.ร.ต.อาภากรกล่าว และว่าส่วนจะนำบทเรียนในภารกิจถ้ำหลวงฯ มาใส่ในการฝึกซีลหรือไม่นั้น ขอให้คอยดูเพราะอยู่ในขั้นตอนต่อไป
ทางด้าน น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมากำลังเรียนรู้ประสบการณ์และแก้ปัญหาวันต่อวัน ถือเป็นความเสี่ยง การส่งนักดำน้ำไปทำงานคิดอยู่เสมอว่ามีความสำเร็จ 50% และไม่สำเร็จ หรือสูญเสีย 50% แม้จะมองโอกาสความสำเร็จ 40% แต่เราจะมองประเด็นที่ความสำเร็จมากกว่าความสูญเสีย ตนภูมิใจกับทีมงานซีลทุกคนเมื่อต้องออกไปปฏิบัติงานก็จะทำเต็มที่ไม่มีเกี่ยงงอน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะได้นำไปแก้ไขให้เกิดความพร้อมทุกๆ ภารกิจที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ในอนาคต
น.อ.อนันต์กล่าวว่า การทำงานในถ้ำไม่รู้ว่าวันไหน นอนก็นอนในถ้ำตรงโถงสาม ตื่นบ้างพักบ้าง ลูกน้องก็สลับสับเปลี่ยนกันเข้าไปทำงาน ส่วนลูกน้อง 3 คนที่ขาดการติดต่อไป 23 ชม. หลังตรวจร่างกายก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่คงพิจารณาในเรื่องของอากาศหายใจจึงใช้เวลานานในการดำน้ำออกมา วันนี้ก็เดินทางกลับมาพร้อมคณะด้วย
ขณะที่ น.ต.ค่าย โตชัยภูมิ อดีตหน่วยซีลรุ่น 9 และอดีตครูฝึกหน่วยซีลที่เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ กล่าวถึงการเสริมบทเรียนการดำน้ำในถ้ำ หลังหน่วยซีลได้ทำภารกิจในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอง ช่วยทีมหมูป่า 13 คน ว่าหลักสูตรเทคนิคการดำน้ำในถ้ำ Cave Diving Technic ซึ่งมีการฝึกขั้นพื้นฐานในพื้นที่ภาคใต้ เช่น เขาหลัก ตะกั่วป่า ภูเก็ต มีชาวต่างชาติเปิดสอนอยู่ แม้จะเป็นถ้ำน้ำใส แต่ขอให้มีที่ไว้ฝึกและพัฒนาต่อได้ ไม่ได้ยาก แต่ขอให้เรารู้เทคนิคและอุปกรณ์ในสภาวะเปอร์เซ็นต์อากาศต่ำเช่นนี้จะทำอย่างไร
ส่วนการดำน้ำในถ้ำนั้นสามารถพัฒนาต่อได้ แต่จะต้องรู้จักเทคนิคก่อน โดยเฉพาะการใช้เครื่องแบบนักดำน้ำและหมอต่างชาติที่ดำน้ำเข้ามา ซึ่งเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ และพวกเราเก่งอยู่แล้ว ของไทยใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ใจถึง แต่ขาดอุปกรณ์ แล้วจึงจะพัฒนาต่อไป ต้องเสริมหลักสูตร Cave Diving Technic ที่ได้ยินจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ซึ่งตรงกับที่ตนคิด ในการเสริมขั้นสูงโดยเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ทีมที่ไปทำถารกิจเจอครั้งแรก ไม่เคยไปฝึกที่ภาคใต้ งงเป็นไก่ตาแตก เพราะไม่รู้จะใช้อะไร แต่มีการจัดการที่ดีในการปฏิบัติ
“ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่จะทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรขึ้นอีกมาก การผลิตบุคลากรด่านนี้ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ แต่เน้นที่คุณภาพ ปัจจุบันมีผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมาทั้งหมด 45 รุ่น แต่ที่ผ่านมาซีลไม่มีรุ่น 13 เพราะเหลือคนผ่านแค่ 7 คน ก็จะไปรวมไว้กับรุ่น 14” น.ต.ค่ายระบุ