xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แฉเงินกองทุนใกล้หมด ราคาก๊าซหุงต้มยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง
อดีต รมว.คลัง แฉผลจากยกเลิกเพดานราคาทำปัญหาก๊าซหุงต้มยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง หลังรัฐบาลใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 363 บาทต่อถัง ตั้งแต่เดือน พ.ค. ล่าสุดเงินกองทุนฯ ส่วนของก๊าซใกล้หมด เหลือแค่ 99 ล้านบาท รัฐเตรียม 3 ทางเลือก ดึงเงินกองทุนส่วนของน้ำมันมาใช้, ชะลอจ่ายชดเชยให้โรงแยกก๊าซ หรือกู้แบงก์มาใช้ แต่ไม่ว่าวิธีไหนล้วนสร้างภาระให้ประชาชน



วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “การแก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม : - ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง” กรณีการแก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้มของรัฐบาล หลังจากมีข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่ารัฐบาลต้องกัดฟันตรึงราคาก๊าซ LPG ซึ่งในความเป็นจริงคนที่กัดฟันไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นชาวบ้านนั่นเอง เนื่องจากการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับราคาก๊าซหุงต้ม โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผิดพลาด จนต้องเฉือนเนื้อประชาชนเอาไปให้เป็นประโยชน์กับเจ้าของโรงแยกก๊าซ ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตก๊าซหุงต้มที่ใช้ในประเทศนั้น ประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์มาจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากในอ่าวไทย อีกประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ได้มาจากผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นก๊าซหุงต้มที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยตรงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขเมื่อต้นปี 2561

รัฐบาลในอดีตมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อที่จะดูแลคุ้มครองการใช้ก๊าซหุงต้มของครัวเรือน เพราะก๊าซส่วนใหญ่ขึ้นมาจากอ่าวไทย ก็เอามาใช้เฉพาะสำหรับครัวเรือนซึ่งพอใช้ ไม่จำเป็นต้องนำเข้า รัฐบาลในอดีตจึงกำหนดเป็นนโยบายสำหรับก๊าซหุงต้ม ให้มีเพดานอยู่ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน กำหนดมาหลายรัฐบาลแล้ว โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซก็ดี พยายามชักชวนให้รัฐบาลยกเลิกเพดานนี้ และเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ยกเลิกมาตรการนี้ แล้วให้ราคาก๊าซที่ครัวเรือนต้องใช้ไปโยงกับตลาดโลก โดยอิงราคาตลาดโลกที่ซาอุดิอาระเบีย บวกค่าใช้จ่ายในการนำก๊าซล่องทะเลมาจากซาอุดิอาระเบียมาถึง อ.ศรีราชา ประเทศไทย บวกค่าประกันภัย บวกค่าสูญเสีย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าสำรวจปริมาณ ค่าแล็บ ค่าเรือจอดรอขนส่ง ค่าสถานที่เก็บ ค่าอากรนำเข้า และค่าบริหารจัดการนำเข้า

การเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวนี้ ทำให้ประชาชนซื้อก๊าซในราคาปลีกแพงขึ้นมาก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงพยายามแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง โดยการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในการตรึงราคาก็ต้องเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชยชดเชยให้โรงแยกก๊าซและโรงกลั่น และเงินกองทุนน้ำมันนี้เป็นเงินที่เก็บจากคนใช้น้ำมันและคนใช้ก๊าซ ทั้งนี้กองทุนน้ำมันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของก๊าซ อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนของน้ำมัน โดยในส่วนของก๊าซเวลานี้เหลือแค่ 99 ล้านบาท อีกไม่นานก็จะหมด

นายธีระชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางแก้ปัญหาซึ่งมีทางเลือก 3 วิธี วิธีแรก คือ เอาเงินกองทุนน้ำมันส่วนที่เป็นของน้ำมันที่มีอยู่ 3 หมื่นล้านบาทไปตรึงราคาก๊าซ ซึ่งเป็นการเฉือนเนื้อคนใช้น้ำมันมาแปะให้กับคนใช้ก๊าซ วิธีการที่ 2 คือ เหนียวหนี้ โดยการชะลอการจ่ายชดเชยให้กับโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันออกไปก่อนเพื่อเอาเงินมาตรึงราคาก๊าซ แต่วิธีการนี้ก็ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง ถึงเวลาก็ต้องเอาเงินไปจ่ายให้โรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมันอยู่ดี และวิธีที่ 3 คือการกู้เงินจากธนาคารไปเลย เพื่อเอามาใช้ตรึงราคาก๊าซ

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่จะอำพรางไม่ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า การเปลี่ยนกติกากำหนดราคาก๊าซจากการกำหนดเพดานราคามาเป็นการเฉือนเนื้อประชาชนไปให้โรงกลั่นนั้น เป็นวิธีการที่ผิดพลาดและทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ไม่ว่าจะเป็นการเอาเงินกองทุนจกฝั่งน้ำมันมาใช้ชั่วคราว การเหนียวหนี้ หรือการกู้เงิน ล้วนแต่เป็นการสร้างหนี้เพื่ออำพรางความผิดพลาดจากการโยนนโยบายการกำหนดเพดานราคาก๊าซทิ้งหน้าต่าง แล้วไปเอาเงินกองทุนน้ำมันมาโป๊ว เล่นแร่แปรธาตุ สุดท้ายประชาชนก็ต้องช่วยกันรับภาระ ไม่ต่างจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขาดทุนแล้วกลายเป็นหนี้สาธารณะ


กำลังโหลดความคิดเห็น