xs
xsm
sm
md
lg

เด็กฟันผุเพิ่ม? “มิลค์บอร์ด” แจงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศงด 19 โรงงาน ขายนมฟลูออไรด์ให้ศูนย์เด็กเล็กสังกัด อปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มิลค์บอร์ด” แจงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ งด 19 โรงงานจำหน่ายนมฟลูออไรด์ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน สังกัด อปท. ให้รอเยียวยา หลังมีมติเปลี่ยนแปลงไม่ต่ออายุโรงงานนมฟลูออไรด์ เทอม 1/2561 เหตุ อย.ค้าน เป็นห่วงสุขภาพฟันเด็กเกรงจะได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป เนื่องจากกรมอนามัยยังไม่มีผลวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนเด็กมีปัญหาเรื่องฟันผุ เผยมิลค์บอร์ดอ้างโรงงานนมฟลูออไรด์หลายแห่งได้รับความเสียหาย ทั้งที่ผลิตไว้แล้วเพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงเปิดเทอมใหม่

วันนี้ (19 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์โคนม (มิลค์บอร์ด) โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ภาคเรียนที่ 1/2561 (ฉบับที่ 3) เปลี่ยนแปลงประกาศข้อ 6.6.8 โดย “ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการนมฟลูออไรด์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเฉพ่ะพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย ซึ่งกำหนดในใบอนุญาตผลิตเฉพาะคราวเท่านั้น และห้ามจำหน่ายให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน”

แหล่งข่าวจากกระทรวงมาหดไทยแจ้งว่า ล่าสุดกรมส่งสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ภายหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารจัดการคุณภาพนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในระดับพื้นที่ แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. รายการอาหารเสริม (นม) ในจังหวัดให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ มติ ครม. หนังสือเวียน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้ครบถ้วน

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด ได้พิจารณาทบทวนโครงการฟลูออไรด์ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลังจากที่มติมิลค์บอร์ด ขณะนั้นนายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดเกษตรฯ เป็นประธานมิลค์บอร์ด ได้มีคำสั่งชะลอการผลิตนมผสมฟูลออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศของกรมอนามัย ในภาคเรียนที่ 1/2561 เนื่องจากใบอนุญาตผลิตนมฟลูออไรด์ ไม่ต่อใบอนุญาตให้ 19 โรงงานผลิตที่ได้หมดอายุลงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพื่อให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทบทวนต่อใบอายุโรงงานนมผสมฟลูออไรด์ รวมถึงมีโรงนมผิดข้อละเมิดไปจำหน่ายในพื้นที่เด็กเล็ก

“บรรยากาศที่ประชุมในคราวนั้นเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากผู้แทนที่มาจาก อย.ค้าน ไม่ยอมต่อใบอนุญาตผลิตนมฟลูออไรด์ให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากกรมอนามัยไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ดีพอมาสนับสนุน และไม่มีแนวทางการควบคุมการจำหน่ายที่รอบคอบรัดกุม ประกอบกับ อย.ชี้แจงว่า พบปัญหาในการควบคุมผู้ประกอบการให้ส่งผลิตภัณฑ์นมฟลูออไรด์ตามพื้นที่เป้าหมาย 12 จังหวัด และกระจายไปในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี นอกพื้นที่การใช้นมฟลูออไรด์ ส่งผลให้เด็กที่ดื่มนมฟลูออไรด์มีฟันตกกระ ดังนั้น การที่จะมาอ้างความเสียหายของผู้ประกอบการโดยแลกกับสุขภาพฟันของเด็กนั้นคุ้มหรือไม่”

มีรายงานว่า ประธานในที่ประชุมได้นำหนังสือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงเลขที่ สธ 0904.03/3756 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2561 เรื่องขอความอนุเคราะห์ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ฟลูออไรด์ ภาคเรียนที่ 1/2561 ถึงความจำเป็นของนมฟลูออไรด์ในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคฟันผุ ซึ่งมีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคต่ำ และไม่มีการเสริมฟลูออไรด์ในระดับชุมชนรูปแบบอื่นๆ ใน 12 จังหวัด ที่ดำเนินโครงการเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด พบเด็กฟันผุขาดสารฟลูออไรด์ ทั้งหมด 5.8 แสนคน ต้องให้นมผสมฟลูออไรด์วันละ 5.8 แสนถุง-กล่อง/วัน โดยเด็กกรุงเทพฯ ขาดสารฟลูออไรด์ 50 เขต สูงสุดจำนวน 2.85 แสนคน รองลงมาเป็นขอนแก่น 1.45 แสนคน

“จากข้อมูลดังกล่าวจึงไม่ต่อใบอนุญาตให้แก่ 19 โรงงานที่ผลิตนมฟลูออไรด์ ส่วนโรงงานที่ผลิตนมฟลูออไรด์ไว้ก่อนใบทะเบียนอนุญาตหมดอายุวันที่ 31 มี.ค. 61 นั้น มิลค์บอร์ดมีมติให้เยียวยาส่งเท่าที่ผลิตไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะให้ส่งนมโรงเรียนตามปกติไปแทน หรือต้องสลับไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยท้วงติงไว้ ในกรณีการผูกขาดตลาดจะต้องเกลี่ยพื้นที่จัดสรรใหม่”

มีรายงานว่า สำหรับโครงการนมฟลูออไรด์เป็นของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ขยายป้องกันฟันผุครอบคลุมนักเรียนประมาณ 1.6 ล้านคน ใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชุมพร ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ชลบุรี กระบี่ พัทลุง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่เข้าร่วมการผลิตนมฟลูออไรด์รองรับนักเรียนในโครงการ เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ดื่มนมฟลูออไรด์ ภายใต้โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยจะส่งผลในด้านการส่งเสริมสุขภาพนักเรียนและเด็กก่อนวัยเรียน และประสิทธิผลในการลดการเกิดโรคฟันผุ

กรมอนามัยได้เริ่มโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุตั้งแต่ปี 2543 โดยร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิ The Borrow Foundation ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มจากการดำเนินการในกรุงเทพมหานคร

มีรายงานว่า นมฟลูออไรด์ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อมีประกาศเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการนมฟลูออไรด์เสียหายจำนวนมาก ทั้งที่ผลิตไว้แล้วเพื่อเตรียมจำหน่ายช่วงเปิดเทอมใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น