อย.แจงสั่งโรงงานหยุดผลิต “นมผสมฟลูออไรด์” หลังมิลค์บอร์ดพบปัญหาขนส่งผิดพื้นที่จนต้องชะลอรับซื้อ เผย อยู่ระหว่างประเมินพื้นที่ที่ควรรับนมผสมฟลูออไรด์ใหม่ จึงให้ผลิตอีกครั้ง ชี้ประเด็นรับฟลูออไรด์มากเกินจนฟันตกกระ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ทั้งยาสีฟันและน้ำดื่มด้วย ระบุ เด็กขาดฟลูออไรด์ให้รับนมโรงเรียนปกติไปก่อน
จากกรณีคณะกรรมการโคมนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) มีมติชะลอการรับซื้อนมผสมฟลูออไรด์จากโรงงาน 19 แห่ง เพื่อส่งให้เด็กในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลังพบว่ามีนมผสมฟลูออไรด์ส่งออกไปนอกพื้นที่ 12 จังหวัด และนักเรียนดื่มแล้วมีปัญหาฟันตกกระ จากการรับฟลูออไรด์มากจนเกินไป
วันนี้ (27 มิ.ย.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า นมฟลูออไรด์เป็นการผลิตขึ้นเพื่อส่งให้เฉพาะบางโรงเรียนที่นักเรียนมีปัญหาขาดฟลูออไรด์ แต่ปัญหาการชะลอรับซื้อนมผสมฟลูออไรด์ เกิดขึ้นเพราะตรวจสอบพบว่า มีปัญหาเรื่องระบบขนส่ง ทำให้นมฟลูออไรด์มีการหลุดออกไปจากโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายไปยังโรงเรียนอื่น จึงให้ยุติการผลิตไปก่อน
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า ตามปกติจะมีการกำหนดพื้นที่เป็นโซนว่า พื้นที่ใด โรงเรียนใด เด็กควรได้รับนมผสมฟลูออไรด์ ซึ่งตรงนี้กรมอนามัยจะมีข้อมูลว่ากระจายอยู่พื้นที่ใดบ้าง ซึ่งเด็กควรได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสม หากได้รับน้อยเกินไปก็เพิ่มโอกาสฟันผุ แต่หากรับมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาฟันตกกระ ซึ่งการให้นมผสมฟลูออไรด์จัดเป็นโครงการหนึ่ง จึงต้องมีการประเมินผลการดำเนินการว่า ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ควรได้รับนมผสมฟลูออไรด์ใหม่หรือไม่ ซึ่งจากการประเมินทำให้รับทราบปัญหาในเรื่องของการขนส่ง คือ มีการจัดส่งนมฟลูออไรด์ออกไปยังนอกพื้นที่ที่ควรส่ง
“สมมติว่า โรงงานที่ผลิตนมฟลูออไรด์จะมีโพยอยู่แล้วว่า จะต้องส่งนมผสมฟลูออไรด์ไปยังโรงเรียนใดบ้าง เช่น ต้องส่งไปยังโรงเรียนที่ 1-10 แต่กลับมีการส่งไปยังโรงเรียนที่ 11-20 แทน ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ส่วนที่มีการระบุว่าเกิดปัญหาเด็กฟันตกกระจากการรับนมผสมฟลูออไรด์มากเกินไปนั้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นด้วย เพราะไม่ใช่ว่าการรับนมผสมฟลูออไรด์เข้าไปจะทำให้เกิดฟันตกกระในทันที แต่ต้องใช้เวลา และยังมีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ หากที่บ้านดูแลอย่างดีก็จะได้รับฟลูออไรด์เพิ่ม หรือเรื่องของน้ำ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีฟลูออไรด์ไม่เท่ากัน เป็นต้น” ภญ.สุภัทรา กล่าว
ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ส่วนการชะลอรับซื้อผนมผสมฟลูออไรด์จากโรงงานผลิตนั้น ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่ได้รับนมโรงเรียน ทุกวันนี้เด็กก็ยังได้รับนมโรงเรียนตามปกติ แต่เพียงได้รับนมโรงเรียนธรรมดาไปก่อนเท่านั้น ไม่ใช่นมผสมฟลูออไรด์ ซึ่งหลังจากการประเมินเสร็จสิ้นและได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ใด โรงเรียนใดควรได้รับนมผสมฟลูออไรด์ ก็จะออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการผลิตอีกครั้ง และหาแนวทางควบคุมการจัดส่งให้ส่งมอบนมเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย มิลค์บอร์ดก็จะสั่งซื้อนมผสมฟลูออไรด์ในโครงการโรงเรียนนมต่อไป ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าการประเมินว่าควรได้รับนมผสมฟลูออไรด์หรือไม่ อาจต้องประเมินเป็นในระดับรายโรงเรียนหรือรายคน