ประธาน กรธ.ปาฐกถาแนะนักกฎหมายต้องมี “นิติทรรศนะ” ชี้จะต้อง ซื่อตรงต่อวิชาชีพ-เปิดใจให้กว้าง-ก้าวตามให้ทันโลก ดักคอคนจ้องล้ม รธน.ควรคงหลักการเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ไม่ทำตามอำเภอใจ
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางการศึกษานิติศาสตร์ในอนาคต นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” เนื่องในโอกาสครบ 46 ปี ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปัญหารากหญ้าจนกระทั่งปัญหาทางการเมือง ไปจนถึงผู้บริหารสูงสุด เกิดจากอะไร คำตอบที่ได้รับก็คือเกิดจากการขาดวินัยของบุคคล รู้จักแต่สิทธิของตัวเอง แต่ไม่รู้หน้าที่ ดังนั้น ทาง กรธ.จึงสรุปว่าจะต้องทำให้คนมีวินัยให้ได้ แต่กฎหมายก็ไม่สามารถให้คนมีวินัยได้ ดังนั้น การศึกษาต่างหากถึงทำให้คนมีวินัยได้ ฉะนั้น ถ้าเรามุ่งแต่ให้การศึกษาเพื่อให้เด็กไปแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ความรู้ทางวิชาการนั้นก็อาจจะมาทำลายโลกได้ถ้าคนนั้นไม่มีวินัยและไม่มีคุณธรรม ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจึงเขียนบังคับให้รัฐต้องจัดการศึกษาตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดไม่เกิน 5 ขวบ เพื่อพัฒนาสมองเด็ก อีกทั้งความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ความมีความจนอย่างเดียว ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดจากการได้รับการพัฒนาหรือไม่ได้รับการพัฒนาด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำสิ่งแรกก็คือ การปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งเป้าเอาไว้ 3 อย่างว่าจะต้องเป็นคนดี มีวินัย และให้เรียนตามความถนัด
นายมีชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่ 2 ที่จะต้องปฏิรูปก็คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มงวดกวดขัน ตอนนี้มีกฎหมายมากกว่า 1,000 ฉบับ แต่มีเพียง 50-100 ฉบับที่ใช้ลงโทษ ที่เหลือไม่ได้ใช้เพราะว่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์จนเกินไป สร้างภาระเกินกว่าที่บุคคลจะปฏิบัติตาม ต่อมากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และที่สำคัญก็คือ กฎหมายที่ออกมาไม่สมเหตุสมผล และเมื่อคนไม่มีวินัย การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ทำให้กฎหมายเป็นแต่เพียงเป็นกฎบังคับ เมื่อไหร่เจ้าหน้าที่จะเอาจริงก็ผิดได้ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงกำหนดทิศทางวางกรอบการออกกฎหมายมากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จึงหวังว่าใครที่หัวสมัยใหม่ที่หวังจะยกเลิกรัฐธรรมนูญก็ควรคงตรงนี้ไว้ โดยควรจะคงหลักว่าในการทำงานทุกองค์กรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำตามอำนาจอำเภอใจ และจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
“ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เราระแวดระวังกฎหมายเป็นอย่างมาก เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวรังเกียจด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นจึงเขียนไว้หลายที่ว่าถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปออกกฎหมาย โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 26 ระบุว่า การจะออกกฎหมายได้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น และมาตรา 77 ระบุกรอบและกระบวนการเอาไว้ว่า การจะออกกฎหมายจะต้องไม่ขัดนิติธรรม ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ ไม่กระทบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องบอกเหตุผลด้วยว่า ในกฎหมายดังกล่าวได้จำกัดสิทธิเสรีภาพไว้ตรงไหน โดยการออกกฎหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคล เพื่อให้เขามาบอกว่า สิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้นจะกระทบอะไรบ้าง เขาจะต้องมีหน้าที่อย่างไร คนที่จะออกกฎหมายต้องบอกว่าภาระอะไรบ้างที่จะเกิดกับประชาชน และเมื่อกฎหมายออกแล้วก็จะต้องไปประเมินผลสัมฤทธิ์ว่า ผลที่คาดว่าจะเกิด เกิดขึ้นตามที่คิดไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่คิดจะมีเหตุผลสมควรหรือไม่ที่จะยกเลิก” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ต่างประเทศก็คิดว่ากฎหมายมันเยอะมากเกินไป โดยมีคนคิดทำลายระบบกฎหมายชื่อบริษัท กิโยติน เขาทำมาหลายประเทศแล้ว ได้ยินว่ากำลังเข้ามาในประเทศไทย ตนเชื่อว่าครั้งนี้เขาทำไม่ได้ เพราะเขายังไม่รู้ว่ากฎหมายในประเทศไทยมีกี่ฉบับ แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าภายใน 3 ปีจะรู้ว่ากฎหมายมีกี่ฉบับ เพราะจะมีระบบกลางรวบรวมข้อมูลอยู่ นอกจากนี้ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าผลิตนักกฎหมายไปทำอะไร ตนมองว่าสิ่งที่ต้องมี คือ นักกฎหมายที่มีนิติทรรศนะ คือ 1. จิตใจเป็นธรรม ซื่อตรงวิชาชีพ 2. รอบรู้ และรู้รอบ เพราะมุมมองแต่ละวิชาชีพมีความคิดอ่านต่างกัน 3.เปิดใจกว้างรับความเห็นต่าง คนที่เป็นนักกฎหมายต้องเปิดใจกว้างให้ได้ ถ้าไม่เปิดคุณจะไม่เรียนรู้อะไรใหม่ได้เลย กฎหมายไม่ใช่ตัวเลขที่มีสูตรตายตัว การปฏิบัติจะหยุดเมื่อคำวินิจฉัยถึงที่สุด แต่ในทางวิชาการจะยังไม่หยุด ยังหาเหตุผลกันอยู่ แต่อย่าชี้หน้าด่าเขา เพราะแสดงว่า ใจไม่กว้าง 4. ต้องไม่ติดยึดทฤษฎี จนก้าวไม่ทันวิวัฒนาการ โดยเฉพาะทางไอทีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราต้องออกนอกกรอบให้ได้