องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจฯส่งศาล รธน. ตีความ ม.29 -ม.30 พ.ร.บ. คณะสงฆ์ จับพระสึกก่อนศาลพิพากษาถึงที่สุด ขัด รธน. หรือไม่
วันนี้ (18 มิ.ย.) องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) นำโดย พระมหาทนงค์ วิสุทฺธสีโล เลขานุการ (อพช.) พร้อมคณะสงฆ์ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายประจักษ์ธรรม โรจนะภิรมย์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การสึกพระภิกษุ สามเณร ทีกระทำผิดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอ้างว่า พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 29 ที่บัญญัติว่า พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่งให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุสงฆ์สละสมณเพศได้ และมาตรา 30 ที่ว่า เมื่อต้องจำคุก กักขัง พระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้พนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุที่ต้องจำคุกตามคำพิพากษาสละสมณเพศเสียได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ระบุว่าในคดีอาญาก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด และให้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ และมาตรา 27 ระบุว่า ทุกคนจะต้องได้รับสิทธิและเสรีภาพความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องเพศ ชาติ ความเชื่อทางศาสนา หรือไม่
“พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตรา 15 จัตวา มาตรา 26 และมาตรา 28 ยังกำหนดเรื่องการสละสมณเพศ หรือการสึกพระ สามเณร ที่กระทำความผิดว่าจะกระทำได้เมื่อมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด สอดรับกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 และ มาตรา 27 แต่มาตรา 29 และ 30 ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับเดียวกันนี้ กลับสามารถลงโทษพระ และสามเณรโดยให้สามารถสละสมณเพศ หรือ สึก ก่อนที่คำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น เนื้อหาทั้งสองมาตราดังกล่าวของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ จึงทำให้บุคคลไม่เสมอกันในทางกฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพไม่ได้รับการคุ้มครองกันอย่างเท่าเทียม”
อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ ทาง อพช. จะดำเนินการขอคุ้มครองตัวชั่วคราวในเรื่องของกฎหมายคณะสงฆ์ ก่อนจะเตรียมยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ต่อไป ซึ่งการยื่นเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับที่ขณะนี้มีการดำเนินคดี กับพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ เพราะไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพราะก่อนหน้านี้ ทาง อพช. ได้มีการศึกษาการดำเนินคดีกับพระภิกษุในหลายๆ กรณี และเห็นว่า กฎหมายมีปัญหา พร้อมยืนยันไม่ได้เป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่ อพช. จะเดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้ข้อมูลว่าต้องมายื่นเรื่องผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน
สำหรับกลุ่มองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่คัดค้านการดำเนินคดีพระชั้นผู้ใหญ่ในคดีเงินทอนวัด รวมทั้งเคยยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้มีบทบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบในเฟซบุ๊กองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ - อพช. พบว่า มีการโพสต์ข้อความสร้างประเด็นขัดแย้งกับต่างศาสนาอยู่บ่อยครั้ง