เลือกตั้งท้องถิ่นส่อเกิดหลังเลือกตั้งระดับชาติ คาด กทม.- อบจ.- เมืองพัทยา เริ่มประเดิมหย่อนบัตร พ.ค. 62 เหตุกฤษฎีกาเพิ่งยกร่าง กม. เสร็จให้ กกต. เปิดรับฟังความเห็น 30 วัน
วันนี้ (17 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … ซึ่งเป็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว และส่งให้ กกต. รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งหมด 141 มาตรา ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นประมาณ 30 วัน และหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ กกต. จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง และคาดว่า ในช่วงเดือน ก.ค. จะสามารถส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สนช. พิจารณาต่อไป
โดยในขั้นตอนนี้ สนช. มีกรอบเวลาในการพิจารณา 60 วัน ก่อนจะทำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะมีกรอบเวลาอีก 90 วัน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จะประกาศใช้ได้ภายในเดือน ธ.ค. 2561 แต่จะยังไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เพราะระยะเวลากระชั้นชิดกับการเลือกตั้ง ส.ส. ตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ว่าเป็น ก.พ. 62 และ กกต. ได้เสนอว่าการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ควรมีการเว้นระยะห่างกันประมาณ 3 เดือน ดังนั้น จึงมีการคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือน พ.ค. 62 โดยจะมีการเลือกตั้งก่อน 3 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 77 จังหวัด ขณะที่องค์กรบริหารส่วนตำบล และเทศบาล จะต้องมีกระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน
สำหรับเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ... มีส่วนที่ปรับแก้ตามข้อเสนอของ กกต. เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประกอบด้วย การกำหนดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. การกำหนดให้ กกต. สามารถประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อน และสามารถสืบสวนหรือวินิจฉัย เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือกรณีเห็นว่าในการจัดเลือกตั้งมีการกระทำการไปในทางที่อาจเกิดความเสียหายแก่การจัดเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม กกต. หรือ กรรมการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เห็นสมควร ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจของ กกต. ที่เปลี่ยนแปลงไป การให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร และภายใน 90 วัน นับจากวันเลือกตั้งผู้สมัครต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งพร้อมหลักฐานต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ทั้งนี้ หากมีการใช้จ่ายเกินค่าใช้จ่ายที่กำหนด กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นได้
ในการหาเสียงยังห้ามทำการโฆษณาด้วยการจัดมหรสพรื่นเริงต่างๆ หากผู้บริหารหรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อนุมัติโครงการที่มีลักษณะจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 90 วัน ก่อนครบวาระหรือก่อนลาออก ให้ถือว่าเป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อห้าม เว้นแต่โครงการลักษณะบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบริหารงานท้องถิ่น และการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการและทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียง โดยให้อำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการประจำหน่วย ซึ่งเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจยังมีการกำหนดเรื่องการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หากฝ่าฝืนหรือไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ กกต. ให้ กกต. มีอำนาจสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขหรือลบข้อมูลได้ทันที หรือในกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครแล้ว เป็นเหตุให้ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ผู้นั้นจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่ ตามประมาณการที่ กกต. แถลงต่อศาล หรือกรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยได้คะแนนมากกว่าคะแนนเสียงที่เลือกผู้ใด ให้มีการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ผู้สมัครรายเดิมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
ส่วนบทกำหนดโทษ เช่น การทำเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครคนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และหากเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยทำต่อ กกต. เป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และหากการกระทำดังกล่าวหัวหน้าพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้น ยังให้ กกต. มีอำนาจกันบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้เป็นพยาน และไม่ดำเนินคดีก็ได้ เป็นต้น