xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง พรุ่งนี้ สงสัยท่าทีรัฐไม่ตั้งใจให้เลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต. ถกร่าง พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น พรุ่งนี้ ก่อนส่ง สนช.- กฤษฎีกา หลังสำนักงาน งง รัฐบาลส่งสัญญาณเร่งแก้ กม. 6 ฉบับ รับปลดล็อค แต่กฤษฎีกากลับชงถามความเห็นแก้ กม. กับ กกต. แค่ 2 ปมไร้แก้กระบวนการเลือกตั้ง - อำนาจใหม่ กกต. ตาม รธน. ที่จะเอื้อจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนได้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.) ที่ประชุม กกต. จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่สำนักงาน กกต. เสนอภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ กกต. เพื่อขอความเห็นต่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ฉบับ ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่สำนักงาน กกต. เห็นว่า หนังสือของกฤษฎีกาและร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับที่เสนอมาด้วยนั้น ไม่ได้มีเนื้อหาที่แก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. สมกับที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้ว่ากำลังแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น เพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.

โดยร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งมาขอความเห็น ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ร่าง พ.ร.บ. เทศบาล ร่าง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่าง พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา โดย 4 ประเด็นที่ขอความเห็นเป็นเรื่อง การจะเพิ่มเติมคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น การกระทำอันเป็นการต้องห้ามหากฝ่าฝืนก็เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งและถือเป็นลักษณะต้องห้ามที่ไม่อาจสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้อีก การเพิ่มเติมกระบวนการสอบสวนวินิจฉัยกรณีผู้บริหารท้องถิ่นละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ประพฤติตนฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อย หรือ สวัสดิภาพของประชาชน ประพฤติในทางนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการ เพื่อให้การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดคุณสมบัติกลับเข้ามารับตำแหน่งได้อีกครั้ง เท่านั้น

“กฤษฎีกาเป็นมือกฎหมายของประเทศ ย่อมรู้ดีว่า พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 มีอะไรที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 60 และขณะนี้ พ.ร.ป. กกต.60 ใช้บังคับแล้วมีหลักการที่เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร จำเป็นที่กฤษฎีกาต้องใส่ไปในร่างกฎหมายท้องถิ่นฉบับใหม่ หากรัฐบาลจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน แต่ร่างกฎหมายที่ส่งมาขอความเห็นกฤษฎีกากลับยกมาแค่นี้ มันก็สะท้อนได้เหมือนกันว่ารัฐอาจไม่ได้ตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจริงๆ” แหล่งข่าว กกต. กล่าวตั้งข้อสังเกต

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงาน กกต. เห็นว่า เมื่อประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และรัฐบาลได้ประกาศจะเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งส.ส. ดังนั้น จึงควรที่จะยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์พร้อม หากรัฐบาลจะเดินหน้าเลือกตั้งท้องถิ่น จึงได้มีการเสนอร่างกฎหมายที่สำนักงานยกร่างขึ้นให้ที่ประชุม กกต. ได้พิจารณาพร้อมกับหนังสือขอความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. กกต. อาทิ การกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต.จังหวัด ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเดิมตาม พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่น 45 ก็จะถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดแทนอำนาจของ กกต. ที่จะสั่งระงับสิทธิสมัครได้เป็นการชั่วคราว อำนาจ กกต. คนเดียวระงับยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งหากพบทุจริต อำนาจ กกต. ในการเพิกถอนสิทธิสมัครก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง และได้นำเนื้อหาในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของกฤษฎีกาไปใส่รวมไว้ด้วย ซึ่งหากที่ประชุม กกต. มีมติเห็นชอบ ก็จะมีการส่งร่างฯกฎหมายดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในวันที่ 4 ธ.ค. ตามที่กฤษฎีการะบุขอให้มีหนังสือตอบกลับมา ขณะเดียวกัน ก็จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติให้พิจารณาดำเนินการด้วยอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น