“สมชัย” ยัน กกต.พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น 45 วันหลังกฎหมาย 6 ฉบับมีผลบังคับใช้ รับไม่สบายใจทำงานหวั่นสุดท้ายพ้นตำแหน่งเป็นลุงแก่เดินขึ้นศาลในนามบุคคล เผยมีทางออกสำหรับตัวเอง ท่ามกลางเสียงลือหึ่งเตรียมลาออก
วันนี้ (23 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวถึงรายละเอียดสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ กกต.ได้ส่งให้รัฐบาลแล้วว่า 1. กกต.มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งชั่วคราว (ใบส้ม) ไม่เกิน 1 ปี 2. ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.สามารถยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) 3. กกต.แต่ละคนมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเลือกตั้ง หรือสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หากพบการกระทำความผิด 4. ให้มีการแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยาน รวมทั้งรางวัลนำจับ 5. ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้ถืออายุของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นวาระในการดำรงตำแหน่ง
6. ผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบวาระ หากมีการอนุมัติโครงการที่ใช้งบประมาณท้องถิ่น ภายใน 90 วันก่อนวันลาออก ให้ถือว่าผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการฝ่าฝืน เว้นแต่โครงการดังกล่าวเป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติสาธารณะ 7. ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งและการหาเสียง กรณีเป็นการเลือกตั้งครบอายุของสภาองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ให้คำนวณค่าใช้จ่ายหรือหาเสียงได้ตั้งแต่ 180 วันก่อนวันครบอายุของสภาฯ จนถึงวันเลือกตั้ง ในกรณีแทนตำแหน่งที่ว่างให้คำนวณค่าใช้จ่ายหรือหาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ตำแหน่งว่างจนถึงวันเลือกตั้ง 8. การหาเสียงของผู้สมัครจะต้องปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเฉพาะในสถานที่ที่ กกต.กำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่ กกต.กำหนด และถ้ามีการหาเสียงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด 9. เปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการห้ามจำหน่ายสุราในวันเลือกตั้ง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง และ 10. กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง เวลา 08.00-16.00 น.
นายสมชัยกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดเมื่อใดขึ้นอยู่กับรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ กกต.ชุดปัจจุบันหรือ กกต.ชุดใหม่ แต่มีเงื่อนไขคือกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ซึ่ง กกต.รับผิดชอบร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ที่ได้ส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอีก 5 ฉบับที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเข้าที่ประชุมสนช.พิจารณาได้ภายในต้นเดือน เม.ย. หากเข้าพร้อมกันก็สามารถพิจารณาโดยใช้เวลาประมาณ 60 วัน ซึ่งก็จะเสร็จประมาณต้นเดือน มิ.ย. หลังจากนั้นก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คาดว่าใช้เวลาประมาณ 30 วัน แต่ในส่วนนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าจะใช้เวลา 3 เดือนซึ่งอาจจะเป็นการบอกเวลาแบบเต็มพิกัด แต่หากดำเนินการจริงอาจจะเร็วกว่านั้น อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กกต.ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งหากคำนวณตามกรอบเวลาของตนก็คาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในเดือน ส.ค. แต่หากคำนวณตามกรอบเวลาของนายวิษณุการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย. ซึ่งจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐบาลอาจจะเห็นว่าการเลือกตั้งกระชั้นกันเกินไป และอาจยังไม่ให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น คงไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภทพร้อมกัน เพราะจะเป็นภาระมากเกินไป และในส่วนของ อบต. เทศบาล มีการยุบรวม ดังนั้นน่าจะเป็นการเลือกตั้ง อบจ.ในส่วนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง
“ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะสั่งให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด เพราะเรื่องนี้ไม่มีคำมั่นสัญญาใดๆ จากทุกฝ่าย แต่ กกต.ก็พร้อมหากรัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ชุดปัจจุบันคงเป็นการทำหน้าที่แบบไม่สบายใจอย่างยิ่ง เพราะจะต้องมาทำงานใหญ่ หลังจากนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง หากจัดเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วมีการให้ใบแดง ใบเหลืองใคร พอพ้นจากตำแหน่งแล้วถูกฟ้องร้องก็จะต้องไปขึ้นศาลในนามส่วนตัว สมมติเป็นผม พอพ้นแล้วต้องเป็นคุณลุงสมชัยแก่ๆ ต้องเดินทางไปขึ้นศาล ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก จึงเป็นการทำงานภายใต้ความไม่มั่นคง ทำให้เกิดความหวั่นไหวในการทำงานของ กกต.ทั้ง 5 คน ฉะนั้นคุ้มหรือเปล่าที่ต้องทำหน้าที่ภายใต้สภาวะแบบนี้ กกต.คนอื่นผมไม่รู้ แต่ส่วนตัวผมมีทางออก ถ้าอยากรู้ทางออกคืออะไรให้มาวันจันทร์ตอนบ่าย 2” นายสมชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมชัยแถลงข่าว ได้เกิดกระแสข่าวว่านายสมชัยอาจจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่อยากรับภาระดังกล่าว