รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันไม่ได้บอกว่าจะปลดล็อกคำสั่ง คสช.มิถุนายนนี้ แต่ย้ำว่าเป็นเดือนที่จะรู้ว่าไฟเขียวทำกิจกรรมทางการเมืองได้วันไหน พร้อมระบุจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับเดือนตุลาคมนี้ แต่หากใกล้กับวันเลือกตั้งระดับชาติก็จะขยับเข้ามาให้เร็วขึ้น
วันนี้ (22 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ให้ดำเนินกิจการทางการเมืองและคำส่งที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ว่าตามที่ตนให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมาไม่ได้บอกว่าจะปลดล็อกภายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ตนบอกว่าเดือน มิ.ย.นี้จะทราบว่ามีการปลดล็อกเมื่อใดเพราะรู้วันเลือกตั้งระดับชาติแล้ว โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการตกลงกันเพื่อเตรียมปลดล็อก แต่ไม่ใช่ปลดล็อกในเดือน มิ.ย. แต่เมื่อทราบทั้งวันเลือกตั้งระดับและวันเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องปลดล็อกให้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) และดำเนินการหาเสียงได้ เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับ ก่อนเดือน ก.ย.นี้ แต่ต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมาก่อนจึงจะดำเนินการหาเสียงได้
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ 1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาก่อน วันนี้ยังไม่ออกมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปเดาได้อย่างไรว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือน ส.ค.นี้ 2. เมื่อกฎหมายออกจะต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไร 3. กกต.เป็นผู้กำหนดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด ซึ่งต้องไม่ใกล้กับวันเลือกตั้งระดับชาติเกินไป และ 4. เรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ โดยเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ เมื่อยังไม่เข้ามาก็ยังทำอะไรไม่ได้ เชื่อว่าเมื่อได้องค์ประกอบทั้งหมดจะครบภายในเดือน มิ.ย.นี้และจะทราบวันเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้ เชื่อว่าในเดือน มิ.ย.องค์ประกอบจะครบ ถ้าไม่ครบก็อยู่ลำบากแล้ว ถ้า กกต.ชุดใหม่ยังไม่มี กฎหมายก็ยังไม่ออก และข้อสำคัญที่ตนใช้คำว่า มิ.ย. คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ควรจะต้องประกาศใช้ได้
“คาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นในบางระดับก่อนในปีนี้ การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผมยังไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ใดจำนวนสมาชิกและเขตพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะจัดการเลือกตั้งได้ ไม่ยุ่งยากอะไร แต่ถ้าเขตเลือกตั้งเปลี่ยนทำให้รายชื่อประชาชนมีการเคลื่อนย้าย จะยุ่ง ต้องให้ กกต.ชุดใหม่เป็นคนแบ่ง” นายวิษณุกล่าว
เมื่อถามว่าท้องถิ่นบางแห่งที่มีความพร้อมสามารถจัดการเลือกตั้งในเดือน ส.ค.นี้ได้เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมไม่ได้ตอบ นั่นนายสมชัยเป็นคนพูด โหรสมชัยดูฤกษ์ ถ้าให้ผมพูด โดยสมมติตามใจผมปลายเดือน ก.พ.นี้ กกต.จะส่งร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมายังรัฐบาล เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาในเดือน มี.ค. จากนั้นเดือน เม.ย.จะส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเวลาพิจารณา 2 เดือน จนถึงเดือน พ.ค.แล้ว จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งจะครบในเดือน ส.ค. เมื่อกฎหมายประกาศใช้ต้องจัดการเลือกตั้ง โดยให้เวลาอย่างน้อย 45 วัน วันที่ 46 สามารถเลือกตั้ง โดยจะครบกำหนดในช่วงกลางเดือน ต.ค. แต่ถ้าช่วงเวลาดังกล่าวใกล้กับวันเลือกตั้งระดับชาติก็ต้องมีการปรับ
เมื่อถามว่านายกฯ ระบุว่าจะไม่มีการคว่ำกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.จะทำให้โรดแมปนิ่ง และมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่โรดแมปจะนิ่ง แต่ตนไม่ขอตอบว่าเลือกตั้ง ก.พ. 62 แต่ถ้าให้ใครพูดก็พูดได้อย่างนั้น เรื่องวัน เวลา อย่ามาคาดคั้น แต่ตารางเวลาจะเดินตามลำดับ เหมือนจะขึ้นบันได ขึ้นตึกก็ต้องเดินไป 20 ขั้น แต่ถามว่าจะขึ้นไปถึงขั้นที่ 20 กี่โมงตนตอบไม่ถูก