กกต.เห็นชอบร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว เตรียมเสนอ ครม.28 ก.พ.นี้ วางกลยุทธ์ตาม กม.เลือกตั้ง ส.ส.ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นสร้างความได้เปรียบเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง “สมชัย” คาดเลือกตั้งท้องถิ่นชุดแรกได้ช่วงเดือนสิงหาคม เตือน กกต.ชุดใหม่รับมือร้องเรียนทุจริต
วันนี้ (21 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) ทางสำนักงาน กกต.ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,847 คน และนำมาปรับปรุงเป็นร่างล่าสุด เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อ กกต. ก่อนนำส่งคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อ สนช.ให้เห็นชอบเป็นกฎหมาย เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็วตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง กกต.ได้พิจารณาร่างฯ ดังกล่าวอย่างรอบคอบ และให้มีการแก้ไขในรายละเอียดบางประการเพื่อให้ กฎหมายที่จะนำมาใช้เกิดผลดีที่สุด และสอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยคาดว่าจะสามารถนำส่ง ครม.ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตามที่ได้สัญญากับรัฐบาลไว้
นายสมชัยเผยว่า ความน่าสนใจของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารและสภาท้องถิ่น เริ่มต้นและสิ้นสุดพร้อมกัน ดังนั้น การเลือกผู้บริหารและสภาท้องถิ่นจะกระทำในวันเดียวกัน ไม่เกิดภาวะเหลื่อมล้ำ ไม่มีการแทงกั๊ก พอลงผู้บริหารไม่ได้ก็มาลงสภาท้องถิ่นและประชาชนก็สะดวก สามารถมาใช้สิทธิพร้อมกันได้ในคราวเดียว
การกำหนดให้กรณีมีการลาออกก่อนครบวาระ ห้ามทำกิจกรรมที่นำไปสู่การหาเสียง ใช้งบประมาณของท้องถิ่นสร้างความได้เปรียบต่อคู่แข่งย้อนหลังไป 90 วันก่อนการลาออก ยกเว้นกรณีเป็นการบรรเทาทุกข์จากภัยธรรมชาติ ดังนั้น ลูกเล่นลาออกก่อนครบวาระ และเล่นพาหัวคะแนนไปเที่ยว พากลุ่มแม่บ้านไปทัศนศึกษา เที่ยวฟรีมีตังค์ทอนจะไม่สามารถกระทำได้อีก
การกำหนดรูปแบบการหาเสียงคล้ายคลึงกับการเลือกตั้ง ส.ส. คือ ต้องจัดทำป้ายในขนาดและจำนวน และติดไว้ในสถานที่ที่ กกต.กำหนดเท่านั้น โปสเตอร์ขาจร คัตเอาต์ขนาดใหญ่ขนาดยักษ์ที่ติดตั้งเกะกะกีดขวางทัศนวิสัยจะไม่มีให้เห็นอีก และกำหนดจำนวนผู้ช่วยหาเสียงในสัดส่วนที่เหมาะสม ป้องกันการซื้อเสียงโดยเป็นการอ้างว่าจ้างผู้ช่วย ดังนั้น ค่าแรง 200 บาทให้ผู้มีสิทธิแค่เดินชูป้ายรอบหมู่บ้านรอบเดียวจะทำไม่ได้อีก และห้ามใช้มหรสพในการหาเสียง
นอกจากนี้ มีประเด็นหนึ่งที่ทางสำนักงานเสนอมา คือ การตัดสิทธิหมู่บ้านที่มีผู้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่า 10 คน ให้ไม่มีสิทธิเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น แต่มีสิทธิเลือกเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยเหตุผลว่าที่ผ่านมามีบางหมู่บ้านมีคนไม่ถึง 10 คน พอจะเลือกสมาชิก อบต.ก็จะจำกัดอยู่เพียงในคนไม่กี่คน และเป็นภาระต่อการจัดหน่วยเลือกตั้ง ในประเด็นนี้ ที่ประชุม กกต.ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ และมองว่าเป็นปัญหาของกระทรวงมหาดไทยที่แบ่งย่อยหมู่บ้านมากไปเอง ดังนั้นเมื่อเป็นหมู่บ้านไม่ว่าจะมีคนมากหรือน้อย และกำหนดว่าทุกหมู่บ้านต้องมีตัวแทนในสภาท้องถิ่นก็ไม่สมควรไปตัดสิทธิดังกล่าว โดยเสนอให้มหาดไทยเป็นฝ่ายคิดการยุบรวมหมู่บ้านเพื่อให้มีประชากรเพิ่มขึ้น
นายสมชัยคาดว่า เมื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อ ครม.แล้ว ครม.คงใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องกับร่างของกฤษฎีกา และของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และน่าจะเสนอเข้า สนช.ได้ประมาณปลายเดือนมีนาคมโดย สนช.จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน ขั้นตอนการทูลเกล้าประมาณ 30 วัน ซึ่งเร็วที่สุดที่กฎหมายประกาศใช้ได้ คือ ปลายมิถุนายนปีนี้ หลังจากนั้นหากรัฐบาลเห็นชอบว่าพื้นที่ใดควรมีการเลือกตั้ง กกต.จะใช้เวลาประมาณ 45 วันในการดำเนินการ เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นชุดแรกจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2561 เป็นการทดสอบฝีมือ กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามารับงานดังกล่าวเป็นงานแรก
“ความน่ากังวลใจ คือ เลือกท้องถิ่นแล้วไม่จบโดยง่าย อาจมีกรณีร้องเรียน และคดีความต่างๆ และเข้าไปใกล้กับการเลือกตั้งจริง เมื่อนั้น 7 กกต.จะถึงเวลาแปลงกายเป็นเทพมี 8 กร เพื่อรับกับงานหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน” นายสมชัยกล่าว