xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ทำความแย้งร่าง กม.ส.ส.-ส.ว.ส่ง สนช.ศุกร์นี้ ชี้เสียเวลา 20 วัน ทำ กม.ให้สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สมชัย” เผย กกต.มีมติทำความเห็นแย้งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-ได้มาซึ่ง ส.ว.ส่ง สนช.ศุกร์นี้ ตั้ง กมธ.ร่วมสามฝ่าย ระบุเสียเวลา 20 วัน ทำกฎหมายให้สมบูรณ์ขึ้น

วันนี้ (6 ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่าที่ประชุม กกต.มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.ให้ความเห็นชอบวาระ 3 และส่งให้ กกต.พิจารณาในวันที่ 1 ก.พ. โดย กกต.ต้องทำความเห็นกลับไปภายใน 10 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 ก.พ. จึงต้องทำความเห็นกลับไปภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติที่จะทำความเห็นแย้งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะทำความเห็นแย้ง 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1 มาตรา 48 ที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมืองมีหมายเลขแตกต่างกันไปตามเขตเลือกตั้ง เห็นว่าขัดกับมาตรา 224 (2) ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กกต.มีบทบาทในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม เพราะการมีหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขตของแต่ละพรรคจะทำให้กระบวนการจัดเตรียมพิมพ์บัตรต้องกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น การป้องกันและการตรวจสอบการปลอมแปลงบัตรทำได้ยากขึ้น ทำให้ยากจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดการสุจริต เที่ยงธรรมได้

2. มาตรา 73 ที่ให้จัดมหรสพหาเสียงได้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 224 (2) เช่นกัน เพราะทำให้นำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม การคำนวณค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ 3. มาตรา 62 วรรค 2 ที่กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองเท่ากัน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนดนั้น ตรงนี้ กกต.เห็นว่านำไปสู่หลักปฏิบัติว่าค่าใช้จ่าย ส.ส.เขตก้อนหนึ่ง ซึ่งในอดีตกำหนดค่าใช้จ่ายคนละ 1.5 ล้านบาท ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อเดิมจะคำนวณจากจำนวนผู้สมัครที่ส่ง ถ้าส่งน้อยก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ในร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเท่ากัน โดยการกำหนดค่าใช้จ่ายจะเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง

“สิ่งที่ กกต.กังวลในทางปฏิบัติ คือ การประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ที่จะมีพรรคเล็กมากกว่าพรรคใหญ่ และพรรคเล็กโหวตชนะพรรคใหญ่ แล้วกำหนดให้ค่าใช้จ่ายกลางไม่เกินล้านบาท แต่พรรคเล็กส่งผู้สมัครสส.เขตเพียงคนเดียวก็สามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทบวก 1.5 ล้านบาททุ่มหาเสียงในเขตนั้น แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่ส่งผู้สมัคร 350 เขต ก็จะมีงบกลางที่ใช้หาเสียงคนละ 2,857 บาท การเขียนกฎหมายให้เท่ากันแต่ไม่เที่ยงธรรมเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ”

4. มาตรา 133 เรื่องขอบเขตอำนาจศาลฎีกาที่ให้สั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ได้หลังประกาศผลเลือกตั้ง เป็นการเขียนเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 226 กำหนดให้ศาลมีอำนาจเฉพาะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) เท่านั้น การบัญญัติดังกล่าวขัดกับสาระของรัฐธรรมนูญเท่ากับขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 5. มาตรา 138 หลังการประกาศเลือกตั้งให้ศาลฎีกามีเพิกถอนสิทธิสมัครเท่านั้น แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 226 บัญญัติให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในส่วนของประเด็นเรื่องการแยกประเภท แบ่งกลุ่ม การเปลี่ยนจากการเลือกไขว้มาเป็นเลือกแบบกลุ่มนั้น กกต.ไม่เห็นแย้ง แต่เห็นแย้งเฉพาะมาตรา 64 เรื่องที่ให้อำนาจศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงอย่างเดียว ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 226

ทั้งนี้ นายสมชัยยืนยันว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของ กกต. นอกจากอยู่บนหลักคิดว่าประเด็นดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ยังเห็นว่าหากปล่อยผ่านไปจะส่งผลเสียแก่บ้านเมือง และการแย้งจะทำให้การร่างกฎหมายดีขึ้นมีความสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งในอนาคต ไม่ได้สนใจว่าจะเข้าทางใคร หรือจะทำให้เกิดการยืดระยะเวลาออกไปมากหรือน้อยเพียงใด แต่เอาสาระของกฎหมายเป็นที่ตั้ง พิจารณาโดยอิสระ ปราศจากการล็อบบี้ ถึงมีล็อบบี้ก็ไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจได้ และไม่ได้พิจารณาว่าเป็นเรื่องความยากลำบากในการทำงานของ กกต. เพราะส่วนนั้นถือเป็นข้อขัดข้องในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ขัดรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม การทำความเห็นแย้งไปเสียเวลาไม่มากนัก คือจะเพิ่มขั้นตอนอีก 15-20 วันเท่านั้น จากการตั้งกรรมาธิการสามฝ่ายพิจารณา 15 วัน ก่อนเข้า สนช.รวมระยะเวลาไม่เกิน 20 วันจึงไม่ส่งผลกระทบในเชิงของระยะเวลาที่จะเสียไปเพิ่มเติมมากนัก

นายสมชัยยังกล่าวถึงระยะเวลา 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญว่า ขึ้นอยู่กับ กกต.ชุดใหม่จะเห็นอย่างไร จะใช้เวลาเต็ม 150 วันหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าระยะเวลาสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 60 วันแรกให้พรรคการเมืองเตรียมการให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ส่วนที่ 2 คือ กกต.ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง 45 วัน และส่วนที่ 3 อีก 45 วันในการประกาศผลให้ได้ร้อยละ 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ 105 วันหลังกฎหมายบังคับใช้ ส่วน กกต.ชุดใหม่จะกำหนดกรอบเวลาอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น