xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.รบพิเศษ ไทย-กัมพูชา ร่วมโดดร่มมิตรภาพพหุภาคี ขยายความร่วมมือฝึกทหารอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผบ.รบพิเศษ ไทย - กัมพูชา ร่วมโดดร่มมิตรภาพพหุภาคี ร่วมกับทหารรบพิเศษ 120 นาย จาก 4 ชาติ ระหว่างการฝึก แฟลช ธันเดอร์ ขณะที่ ผบ.นสศ.ไทย เชื่อมั่น จะสามารถขยายความร่วมมือการฝึกทหารรบพิเศษ 10 ชาติอาเซียน

วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่สนามฝึกโดดร่มบ้านท่าเดื่อ ศูนย์สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ของไทย พล.ต.จาบ เพี้ยกระเดย ผู้บัญชาการกองพลน้อยรบพิเศษที่ 911 กองพลน้อยที่ 2 ได้ร่วมกระโดดร่มมิตรภาพ ร่วมกับอีก 2 ชาติ คือ เวียดนาม และ กัมพูชา รวม 120 นาย ในการโดดร่มมิตรภาพพหุภาคีระหว่าง โปรแกรมการฝึกร่วมระหว่างหน่วยรบพิเศษไทย - สิงคโปร์ (FLASH THUNDER) ระหว่างวันที่ 4 - 14 มิ.ย. นี้

ในส่วนของพิธีแลกเปลี่ยนเครื่องหมายนักโดดร่มกิตติมศักดิ์ สิงคโปร์ ได้ส่ง พัน.ท. ปัง ชี คิง รองผบ.หน่วยศูนย์ฝึกคอมมานโด เข้าร่วมพิธี เนื่องจากระดับผู้นำทางทหารติดภารกิจในการอำนวยความสะดวกการประชุมระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ นายคิม จองอึน นายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือ ที่ประเทศสิงคโปร์ ขณะที่ เวียดนาม ได้ส่ง น.อ.(พิเศษ) เหงียน ฟุง ต๋วน ผู้นำหน่วยรบพิเศษของเวียดนามเข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้ นักโดดร่มจำนวน 120 นาย ส่วนใหญ่สามารถบังคับทิศทางของร่ม และลงในพื้นที่สนามฝึกทางยุทธวิธีได้สำเร็จขณะที่นักโดดร่มที่ถูกปล่อยตัวเป็นลำดับแรกๆ ที่ต้องเจอกับสภาพอากาศผันผวน มีลมแรงและเมฆหนา ต้องไปลงในไร่ข้าวโพด ไม่ว่าจะเป็น พล.ท.สุนัย และ พล.ต.จาบ เพี้ยกระเดย แต่ทั้งหมดก็ปลอดภัย

พล.ท. สุนัย ประภูชเนย์ กล่าวว่า การฝึกภายใต้รหัส แฟลช ธันเดอร์ เป็นการฝึกรบพิเศษของไทย - สิงคโปร์ ที่ทำมาร่วมกันมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นการฝึกการทำงานแต่ละบุคคล เพื่อรวมตัวกันเป็นทีม ทั้งนี้ จากการประชุมผู้บัญชาการทหารบกอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกของไทย ได้หารือกับผู้บัญชาทหารบกเวียดนามและกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมการฝึกภายใต้รหัสดังกล่าวโดยเริ่มจากงานร่วมกระโดดร่มมิตรภาพก่อน ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงของกองทัพในประเทศอาเซียนประเทศอาเซียนทั้ง 10 ชาติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ได้พูดถึงความร่วมมือในเรื่องของแพทย์ทหารและการบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนนี้จะได้นำมาเพิ่มเติมในโปรแกรมการฝึกเพื่อเพิ่มศักยภาพของกำลังพลรองรับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น โดยการฝึกแฟลช ธันเดอร์ ในช่วงแรกมีความกังวลเรื่องการใช้ภาษาในการสื่อสาร แต่เมื่อมีการฝึกร่วมกันทุกปีจะเห็นได้ว่ารบพิเศษ หลักนิยมคล้ายกัน หรือที่เรียกว่า เซนส์เดียวกัน ทำให้การฝึกไม่มีปัญหา

สำหรับแนวทางการพัฒนาหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทางผู้บัญชาการทหารบกได้มีแนวทางเช่นเดียวกับการพัฒนาหน่วยอื่นๆ ของกองทัพ คือ เน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร เป็นหลัก ส่วนการเพิ่มอุปกรณ์ช่วยฝึกเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่ง เช่น อุโมงค์ ลม ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสให้หน่วยอื่นเข้ามาใช้อุปกรณ์ร่วมกัน นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น