xs
xsm
sm
md
lg

นัดถก กกต.- รัฐ ส่อใช้ ม.44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตก่อนเพื่อพรรคมีข้อมูลทำไพรมารีฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คาด กกต.- รัฐบาล นัดถก 14 มิ.ย. แก้ปมแบ่งเขต - ไพรมารีโหวต ส่อต้องใช้ ม.44 ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตก่อนเพื่อพรรคมีข้อมูลทำไพรมารี เหตุ กม. ไม่เปิดช่อง

วันนี้ (11 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการหารือนอกรอบระหว่าง กกต. กับรัฐบาล เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองก่อนที่รัฐบาลจะนำไปถกกับพรรคการเมืองในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นั้น มีรายงานว่า นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรีได้นัด กกต. หารือในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งในประเด็นที่จะมีการหารือเรื่องของการแบ่งเขต และปัญหาของการปฏิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 นั้น ทางสำนักงาน กกต. ก็ได้มีการทำข้อสรุปปัญหา อุปสรรค ซึ่งก็จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กกต. พิจารณาเบื้องต้นในการประชุม กกต. วันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.) ก่อนที่จะมอบหมายให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนไปหารือกับรัฐบาล ซึ่งในประเด็นปัญหาเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ทางสำนักงาน กกต. ได้มีการศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ แล้ว เห็นว่า กฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อน พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับ และหากรอไปถึงเวลาดังกล่าวโดยรัฐบาลไม่มีการปลดล็อกหรือแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ก็จะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง

ขณะที่ปัญหาของพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการทำไพรมารีโหวตนั้น ก็จะมีการนำเสนอว่า ผู้สมัคร และพรรคการเมือง ยังไม่รู้ว่าจะมีการแบ่งเขตอย่างไร และเมื่อรัฐบาลยังไม่มีการปลดล็อกคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 รวมทั้งแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถหาสมาชิกในเขตนั้นๆ เพื่อที่จะมาทำหน้าที่กรรมการสาขา หรือตัวแทนประจำจังหวัด ไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อตั้งสาขาพรรค ตั้งตัวแทนประจำจังหวัด ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครได้ ประชุมเพื่อหามติว่าจะส่งกี่เขต ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่าไร เห็นชอบรายชื่อผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเชื่อว่าพรรคใหญ่ที่มีศักยภาพยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ส่วนพรรคตั้งใหม่ไม่อาจคาดการณ์เวลาได้ ดังนั้น หากรัฐบาลยังคงยึดตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะให้มีการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเร็ว ซึ่งก็สามารถใช้อำนาจตาม ม.44 ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บังคับได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีการปลดล็อก หรือผ่อนคลายให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมในบางเรื่องที่ไม่ได้เป็นการหาเสียงเพื่อนำไปสู่กระบวนการทำไพรมารีโหวต


กำลังโหลดความคิดเห็น