“วิษณุ” เผยเตรียมถก กกต.แก้ปัญหาไพรมารีโหวต-แบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อน คสช.พบพรรคการเมือง แย้มอาจมีนัดพบฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกอาจเป็นเดือนนี้กับหลังร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจาฯ เพื่อร่วมกำหนดโรดแมปเล็ก บอกไม่ง้อบางพรรคเมินเข้าร่วม
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินงานหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่าทุกอย่างก็เดินไปตามคำสั่ง ตอนนี้ก็รอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้ ทั้งหมดอยู่ที่พระราชวินิจฉัยตามกรอบ 90 วัน จึงจะประกาศใช้ในส่วนของกฎหมาย ส.ว. แต่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องรอไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นจึงเริ่มนับ 150 วันจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นโรดแมป ตามกฎหมาย
แต่กำหนดการที่ คสช.จะประชุมกับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งพรรคการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางทั้งเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น และระดับชาติ แม้มีปฏิกิริยาจากบางพรรคจะไม่เข้าร่วม แต่หลายพรรคก็ยังอยากให้มีการหารือกันเพราะต้องการเสนอปัญหา ขณะที่ คสช.ก็อยากเห็นการประชุมพรรคการเมืองจะมาเท่าไหร่ก็ได้ และหารือในส่วนที่คุยกันได้เพื่อได้แนวทางที่จะไปทำต่อ เช่น เรื่องไพรมารีโหวต การปลดล็อกและการเลือกตั้งท้องถิ่น
เขากล่าวว่า หาก คสช.เห็นว่าจำเป็นก็พร้อมจะประชุม จึงอาจมีการประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกอาจเกิดภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนอีกครั้งอาจจะเกิดหลังจากร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เป็นไปตามคำปรารภของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ผลการประชุมเหมือนโรดแมปเล็กกำหนดแนวทางให้ทุกฝ่ายไปปฏิบัติ
นายวิษณุกล่าวว่า ในวันนี้ได้พบกับ กกต. มีการพูดคุยถึงประเด็นที่ต้องการหารือแล้วแต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดหมายที่ชัดเจน โดยตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีการหารือแล้วหลายครั้ง จนถึงขั้นมีการร่างเตรียมการไว้แล้ว จะได้มาหารือกันว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 มีประเด็นใดที่ต้องแก้ไขบ้าง รวมถึงที่มีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้หลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ และประเด็นที่พรรคการเมืองร้องเรียนมา ทั้งนี้ การหารือกับ กกต.น่าจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมกับพรรคการเมือง โดยที่ประชุมจะประกอบด้วยตนในฐานะตัวแทนรัฐบาล เลขาธิการ คสช.ที่เป็นตัวแทน คสช. เลขาธิการ กกต.ที่เป็นตัวแทน กกต. และตัวแทนจากกฤษฎีกาด้วย โดยบทสรุปที่ได้จะเป็นข้อเสนอถึงแนวทางแก้ไข เช่น จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือไม่ หรือจะแก้ไขพระราชบัญญัติใด หรืออาจไม่ต้องแก้ไขอะไรเลย แต่กำหนดร่วมกันเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกิดการปฏิบัติได้