xs
xsm
sm
md
lg

ชง 5 หมื่นล้าน ครม.สัญจร จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ดัน “ตาคลี” เป็นไบโอฮับ ผุดถนนเชื่อม “นครสวรรค์-ชัยภูมิ” 153 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชง 5 หมื่นล้าน ครม. สัญจร พัฒนา 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กลุ่ม 2 “นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และ อุทัยธานี” เฉพาะ 2 พันล้าน ดัน 121 โครงการ ชูเป็นพื้นที่ “ห่วงโซ่ข้าว ท่องเที่ยวธรรมชาติ และวัฒนธรรม” เผยดัน “อ.ตาคลี” 5 หมื่นไร่ เป็น “ไบโอฮับ” พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ มูลค่ารวม 1.33 แสนล้าน ขอก้อนแรก 1.1 พันล้าน วางระบบท่อน้ำ 2 เส้นทาง ระยะทาง 30 กม. ชูพัฒนาคมนาคมเชื่อม 2 มรดกโลก “ป่าห้วยขาแข้ง - อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ผุดถนนเชื่อม “เหนือ - อีสาน” เส้น “นครสวรรค์ - ชัยภูมิ” 153 กม.

วันนี้ (10 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมเสนอวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี ระหว่างวันที่ 11 - 12 มิ.ย. 61 โดยการประชุมที่ จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 12 มิ.ย. เตรียมเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม “แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด” กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมการวิจัย และการเกษตรโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) หรือ ไบโอฮับ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะนครสวรรค์และกำแพงเพชร 2. พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 5. พัฒนาคุณภาพชีวิต และ 6. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย

โดยแผนพัฒนา จ.นครสวรรค์ เน้นอุตสาหกรรม (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติ และเชิงสุขภาพ จ.กำแพงเพชร จะพัฒนาเป็นเมืองการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป การท่องเที่ยวมรดกโลกและธรรมชาติ จ.พิจิตร เพิ่มเส้นทางคมนาคม และการท่องเที่ยวนิเวศ ประเพณี และ จ.อุทัยธานี เน้นพัฒนาการเกษตร (ข้าม อ้อย มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ (ควาย)) และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงธรรมชาติ และเชิงเกษตร

ทั้งนี้ ตาม “แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด” กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จะถูกกำหนดให้เป็น “ศูนย์กลางธุรกิจข้าว” สินค้าเกษตรปลอดภัย การท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมล้ำค่าระดับประเทศ ได้แก่ 1. ผลผลิตข้าวและสินค้าเกษตร ที่ปลอดภัย มีคุณภาพตามมาตรฐาน 2. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวและสินค้าเกษตรที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม 3. ธุรกิจข้าวและสินค้าเกษตรปลอดภัยมีช่องทางและการตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4. การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นที่รู้จักและยอมรับของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

“แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จะเน้นส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม, พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง, ส่งเสริมการปลูกอ้อยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะ zoning, ส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน, ประชาสัมพันธ์การลงทุนจัดตั้งศูนย์ฮาลาลตามสถานีบริการปั๊มน้ำมันเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอิสลาม, พัฒนาการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดต้นทุนการขนส่งทางบก ลดอุบัติเหตุ ลดมลภาวะ ลดงบประมาณการซ่อมบำรุง รองรับการขนส่งสินค้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระเบียบเศรษฐกิจ est-west economiccorridor และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)”

ส่วนแผนที่จะเสนอ การลงทุน ประกอบไปด้วย การก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์ - กำแพงเพชร -ตาก- แม่สอด, ก่อสร้างเพิ่มทางจราจรทางหลวงหมายเลข 115 ช่วงกำแพงเพชร - พิจิตร, ก่อสร้างเส้นทางใหม่ (แยกวังกระชายหันคา - เมืองอุทัยธานี) ตัดกับทางหลวงหมายเลข 1, พัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland container Depot : ICD) ตามข้อเสนอของงานวิจัยที่ดำเนินการเมื่อปี 2557, ยกระดับธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อรองรับ AEC

ขณะที่ การปรับปรุงถนนเส้นทางหมายเลข 11 จาก 2 เลนส์ เป็น 4 เลนส์ มี 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการขยายเส้นทางหลวงหมายเลข 11 จาก 2 เลนส์ เป็น 4 เลนส์ ช่วง กม.116+345 - 14+600 (เชื่อมรอยต่อ จังหวัดพิจิตร - ช่องแค - ตาคลี อินทร์บุรี) ระยะทาง 101.75 กม. 2) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคมทางหลวงหมายเลข 11 ตอนควบคุม 0301 ตอน หนองกลับ - เขาทราย ช่วงระหว่าง กม. 116+345-131+100 ระยะทาง 14.750 กม. 3) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคมทางหลวงหมายเลข 11 ตอนควบคุม 0302 ตอนเขาทราย - สากเหล็ก ช่วงระหว่าง กม. 132+211-173+000 ระยะทาง 36.800 กม.

ทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2

นอกจากนี้ ทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบไปด้วย 1) ขยายฐานเศรษฐกิจของกลุ่มให้หลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลเกษตร พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเดิมสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และการพัฒนาระบบ Logistic โดยใช้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการเป็นศูนย์ผลิตและค้าข้าว รวมถึงให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเป็นฐานสร้างรายได้ โดยการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและธุรกรรมการค้าข้าว ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง สนับสนุนการปลุกข้าวด้วยระบบการผลิตเกษตรที่ดี (GAP) พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปเพื่อตอบสนองตลาดเฉพาะ ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตรที่มีศักยภาพให้มีความสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พัฒนาระบบ Logistic โดยนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าพืชผลเกษตรและการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ จัดทำการศึกษา เพื่อกำหนดรูปแบบระบบ Logistic ที่เหมาะสมของกลุ่ม ทั้งระบบราง ถนน และการขนส่งทางน้ำ

2) เพิ่มรายได้จากการพัฒนาและสร้างสินค้าการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสการขยายตัวทางการค้า การลงทุนและยกระดับการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ของกลุ่มจังหวัดอย่างมั่นคง โดยส่งเสริมพัฒนาด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยว เชื่อมโยงการท่องเที่ยวภายในกลุ่มจังหวัด และระหว่างกลุ่มจังหวัด จัดทำแผนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกของพื้นที่ ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สนับสนุนชุมชนที่อยู่ใกล้แหล่งมรดกโลกมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว ฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อนุรักษ์พันธุ์ปลาที่หายากของท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวแพริมแม่น้ำ

3) แก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาลุ่มน้ำหลักของประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยธรรมชาติ สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง และการใช้ประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงเป็นระบบเชื่อมต่อกับการจัดการลุ่มน้ำหลักของภาคที่อยู่ในพื้นที่กลุ่ม ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ป้องกันหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง เพิ่มสมรรถนะแหล่งกักเก็บน้ำและเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำใหม่โดยสร้างแก้มลิงในพื้นที่เหมาะสม สร้างฝายระบายน้ำและพนังกั้นน้ำในลำน้ำสายหลัก และเพิ่มสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมพัฒนาขุดลอกแหล่งกักเก็บน้ำเดิมที่ตื้นเขิน

4) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับความรู้ความสามารถของประชาชนและกำลังแรงงานในกลุ่มจังหวัดให้สูงขึ้น โดยการยกระดับการศึกษาและพัฒนากำลังแรงงานให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้มีการเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมและอุดมศึกษามากขึ้น สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังแรงงานให้สูงขึ้น โดยเร่งพัฒนาทักษะฝีมือของบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง

121 โครงการ 2 พันล้าน ชูห่วงโซ่ข้าว ท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม

มีรายงานว่า สำหรับงบประมาณโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 4 ปี กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 กว่า 121 โครงการ ประกอบไปด้วย “โครงการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าข้าวและสินค้าเกษตร” จำนวน 90 โครงการ งบประมาณ 1,714,488,000 บาท โดยแบ่งเป็น 1. โครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 15 โครงการ งบประมาณ 430,000,000 บาท 2. โครงการด้านการปรับปรุงถนนเพื่อการคมนาคมขนส่งพืชผลทางการเกษตร สะดวก ปลอดภัย ช่วยลดต้นทุน จำนวน 34 โครงการ งบประมาณ 942,255,000 บาท 3. โครงการด้านส่งเสริมการผลิต ลดต้นทุน แปรรูปสินค้า จำนวน 28 โครงการ งบประมาณ 269,053,000บาท และ 4. โครงการด้านการตลาด เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ จำนวน 13 โครงการ งบประมาณ 73,180,00 บาท

“โครงการภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม" จำนวน 31 โครงการ งบประมาณ 160,580,000 บาท โดยแบ่งเป็น 1. โครงการด้านถนนเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 19,000,000 บาท 2. โครงการด้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นตามมาตรฐานของกรมการท่องเที่ยว จำนวน 14 โครงการ งบประมาณ 91,580,000 บาท 3. โครงการด้านเพิ่มศักยภาพ และพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 15 โครงการ งบประมาณ 48,000,000 บาท

ขณะที่งบลงทุนประกอบไปด้วย การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน พัฒนาแหล่งน้ำ 15 โครงการ วงเงิน 430,000,000 บาท, การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การแปรรูปพัฒนาตลาด การผลิต/การตลาด 41 โครงการ วงเงิน 342,233,000 บาท, การพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยว/ทรัพยากรธรรมชาติ - ถนน 2 โครงการ วงเงิน 19,000,000 บาท, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว - แหล่งท่องเที่ยว 14 โครงการ วงเงิน 91,580,000 บาท, พัฒนาตลาดศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยว - เพิ่มศักยภาพ 15 โครงการ วงเงิน 48,000,000 บาท

แผน 5 หมื่นล้าน พัฒนา 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กลุ่ม 2

มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของโครงการที่เสนอโดยเอกชน ใช้งบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาท ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่ทาง คณะกรรมการ กรอ. 4 จังหวัด จะเสนอ ครม. ยังประกอบไปด้วย โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ, โครงการวางระบบท่อน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ, ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการแม่น้ำสะแกกรัง อุทัยธานี, ก่อสร้างท่อระบายน้ำบ้านวังทับยาบึงสีไฟ จ.พิจิตร, ขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำทับเวลา อุทัยธานี,

ขุดขยายอ่างเก็บน้ำหุบอีเก้ง อุทัยธานี, ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออก, โครงการขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เลน ระยะทาง 83 กิโลเมตร (กม.) จากเกรียงไกรกลาง จ.นครสวรรค์ถึง จ.ชัยภูมิเพื่อเชื่อมโยงภาคเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 153 กม. เชื่อมนครสวรรค์เข้ากับภาคกลาง, ขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 115 เชื่อมต่อกำแพงเพชร-พิจิตร และพิจิตร-พิษณุโลก ระยะทางรวม 48 กม. ปรับปรุงสนามบินตาก และสนามบินเกษตร จ.นครสวรรค์, สร้างเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน, พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ จ.พิจิตร

ทางภาคเอกชน เสนอผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการนวัตกรรมทางด้านการเกษตรอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) หรือ ไบโอฮับ มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ กว่า 5 หมื่นไร่ โดยได้เสนอโครงการรจัดการน้ำวางระบบท่อน้ำ 2 เส้นทาง ระยะทาง 30 กิโลเมตร งบประมาณกว่า 1,100 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โครงการการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยแล้ง น้ำท่วม โครงการพัฒนาการท่องเที่ยว และโครงการที่สำคัญคือโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนน โครงข่ายระบบรางรถไฟ และโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ 3 โครงการต้องเร่งรัด คือ โครงการที่จอดรถบรรทุกในการขนถ่ายสินค้า (ทรักเทอร์มินอล คอนเทนเนอร์ยาร์ด ทรักเรสต์แอเรีย) รองรับการขนส่ง และกระจายสินค้า รองรับโครงการรถไฟรางคู่จากลพบุรี - ปากน้ำโพ

“โครงการเชื่อมโยงรถไฟไปแม่สอด ผ่านกำแพงเพชร และสุโขทัย เข้าสู่จังหวัดตาก, โครงการสร้างเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา ของกรมเจ้าท่า ในพื้นที่พิจิตร และนครสวรรค์, โครงการพัฒนาบึงขุมทรัพย์ของ จ.อุทัยธานี แหล่งน้ำทางการเกษตร, โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อม 2 มรดกโลก ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี กับอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร เชื่อมไปทางอุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติอื่นๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น