xs
xsm
sm
md
lg

“The Grand Age” ชีวิตผู้สูงวัยยุคใหม่ 4 มิ.ย.นี้ ที่สยามพารากอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค disruptive economy อย่างเต็มตัว เกิดความผันผวนของธุรกิจในทุกวงการ นี่เป็นที่มาที่บริษัทแบรนด์ คอนเนคชั่นส์ และ แกะดำทำธุรกิจ สนใจถึงความเปลี่ยนไปของสังคมไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุในเร็ววันนี้ นายประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสอง เปิดเผยว่า การทำวิจัยเพื่อเข้าใจวิธีคิดของคนเหล่านี้ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์ผู้สูงวัย 30 คนแบบตัวต่อตัว อายุระหว่าง 60 ปีขึ้นไป ไม่กำหนดเพดานอายุ



โดยกำหนดคุณลักษณะของคนเหล่านี้ คือ มี mobility สูง เดินทางด้วยตัวเอง แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ดี ยังใช้ศักยภาพตัวเองสร้างคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน สังคม หรือเรื่องส่วนตัว จับจ่ายใช้สอย ตัดสินใจด้วยตัวเอง อาศัยในเขตกรุงเทพฯ กระบวนการในการสัมภาษณ์เสมือนหนึ่งแอบมองเข้าไปในวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ ซึ่งรูปแบบในการวิจัยเป็นวิธีการเฉพาะตัวที่บริษัทแกะดำทำธุรกิจออกแบบขึ้นมาแล้วถอดความหมายของชีวิตทำให้เราเข้าใจวิธีคิดและพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่แปลเป็นโอกาสทางธุรกิจ
ป้าไข่ (อรัญญา จีระมะกร) 65 ปี
คุณประเสริฐบอกว่าสิ่งที่พบคือ ผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งในวันนี้แตกต่างจากภาพจำของคนส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง และนี่คือช่องว่างและโอกาสที่เป็นประโยชน์ต่อวงการธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ

บทสรุปของงานวิจัยคือคนเหล่านี้ใช้ชีวิตหลังวัยทำงานด้วยแนวคิดว่านี่คือ “จุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่เลือกได้” คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความเข้าใจเดิมของสังคมที่คิดว่าคนที่เกษียณอายุไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะวิธีคิดเดิมคือคนเหล่านี้กำลังเดินเข้าสู่ “ช่วงท้ายของชีวิต” เป็นชีวิตที่ไม่จับจ่ายใช้สอย รายได้ลด หรือไม่มีรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ให้ความสำคัญต่อช่วงชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวไม่น้อยกว่า 20-30 ปี
ป๊าม้า (นรินทร์-กรองแก้ว บุญทวีกิจ) 81 ปี-75 ปี
ถ้าจะสรุปผลของงานวิจัยคือคำคำเดียว “ชีวิตที่มีค่า” และคุณค่าเกิดจากวิถีชีวิตใหม่ที่คนเหล่านี้ออกแบบเอง

1. เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอิสระ เป็นนายของเวลา ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีโอกาสทำมาก่อน

2. จิตไม่แก่ คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าตัวเองอ่อนวัยกว่าอายุของจริงอย่างน้อยสิบปี

3. คุณภาพชีวิตสำคัญที่สุด เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนี้ตั้งใจดูแลสภาพร่างกายที่ยังดีอยู่ไปให้นานที่สุด

4. มีพลังทำกิจกรรมต่างๆ ยิ่งทำ ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งมีความสุข และมีแนวโน้มว่าอายุจะยืนยาว

5. มีค่านิยมพึ่งพาตนเอง ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่เป็นภาระใครคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความต้องการสุดท้ายคือชีวิตเป็นภาระให้ลูกหลานน้อยที่สุด

6. มีสังคมที่มากกว่าแค่ครอบครัว เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยกิจกรรมและมี active life

7. มีอิสระทางการเงิน มีรายได้หลายทาง มีการลงทุนให้เกิดดอกผล ความหมายคือเขาเหล่านี้มีการวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความพร้อมในการดำรงชีวิต

8. มีกิจกรรมชีวิตที่หลากหลาย ใช้ชีวิตนอกบ้านมาก

9. เป็นผู้บริโภคที่มีประสบการณ์สูง ช่างเลือกสรร สนใจข้อมูล เป็น active consumer

10. ปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้ดีมาก ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีติดตามข่าวสารและความแปรเปลี่ยนของสังคม
พี่ชัช (ชัชวาล วิริยะไพบูลย์) 68 ปี
ผลของการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ที่เราเรียกว่า The Grand Age Consumer คือ “ความสุขไร้กังวล” นี่คือบริบทใหม่ในการดำรงตนที่พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และนี่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มีความหมายกับวงการธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงหนัง/บันเทิง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค
พี่เบน (สมชาย จงนรังสิน) 66 ปี
และคุณค่าของพวกเขาในฐานะผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการเคยมองข้ามคือ

1. มีกำลังซื้อ

2. พิถีพิถัน เฟ้นหาและซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมาบริโภค

3. ยังมีเวลาใช้เงินอีกนานหลายสิบปี

4. เดินทางท่องเที่ยว ยังเข้าสังคม

5. ต้องการคุณภาพมากกว่าปริมาณ

6. มองหาสินค้าที่มีสาระประโยชน์อย่างแท้จริง
ลุงมาน (มานพ เด่นซอ) 81 ปี
คำถามต่อมาคือ กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ ที่มีวิถีชีวิตอย่างนี้มีขนาดใหญ่มากน้อยขนาดไหนในสังคมไทย จากการที่เฟ้นหาผู้บริโภคกลุ่มนี้มาสัมภาษณ์ไม่ยากเลย ผิดความคาดหมาย มีมากกว่าที่คิด บางรายเจอโดยบังเอิญ และถ้าเราสังเกตไปรอบๆ ตัวผู้คนที่แวดล้อมเราจะมีกลุ่มคนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้บริโภค The Grand Age Consumer ความหมายคือกลุ่มผู้บริโภคลักษณะนี้มีขนาดที่มีนัยสำคัญที่องค์กรธุรกิจสามารถสร้าง disruptive business model มารองรับความต้องการผู้บริโภคที่เป็น untapped consumer
อาปัญญา (ปัญญา ศรีสุพรรณ) 65 ปี
คุณประเสริฐสรุปว่า The Grand Age Consumer จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่รอคอยให้องค์กรธุรกิจถอดรหัสวิถีชีวิตของคนเหล่านี้มาสร้างเป็นนวัตกรรมของสินค้าหรือบริการ ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
อาสุพจน์ (สุพจน์ สนสุวรรณ) 69 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น