ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กรมพัฒนาชุมชนรุกปฏิวัติผ้าทออีสานครั้งใหญ่ ระดมผู้เชี่ยวชาญผ้า-แฟชั่นดีไซน์ติวเข้ม ผู้ประกอบการผ้าทอ 20 จังหวัดภาคอีสานร่วม 500 ราย หวังดันสู่ตลาดสากล ประกาศศักดา Cotton of Thailand เผยภายใน 180 วัน พร้อมอวดโฉมผ้าทอ 9 แบรนด์แรกที่จะส่งชิงแชร์ตลาดต่างประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะคอนวิเนี่ยน อำนวยสุข จ.ขอนแก่น กรมพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ได้จัดเวิร์กชอปโครงการยกระดับผ้าทออีสานสู่สากล ตีโจทย์-เข้าใจเทรนด์-สู่การสร้างมูลค่า-คุณค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด ร่วม 500 ราย โดยมีนายธีระเชษฐ สอนปะละ พัฒนาการ จ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดการอบรม
น.ส.ณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอของอีสานว่ามีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดการค้าได้เป็นอย่างดี ด้วยภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีความสวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก กรมพัฒนาชุมชนจึงได้กำหนดแนวทางการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอท้องถิ่นมาพัฒนาศักยภาพ โดยจะปรับวิธีคิด เสริมดีไซน์ กระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดเป้าหมาย เพื่อสร้าง Loccal economy รากฐานความเข้มแข็งที่จะนำมาซึ่งรายได้และการอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรม
“ที่ผ่านมาเราได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่เป็นผ้าไหมกันไปค่อนข้างมาก จนทำให้ในปัจจุบันผ้าไหมมีการพัฒนาการผลิต การออกแบบจนประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถขายได้ในตลาดแล้ว ขณะที่ผ้าทอที่เป็นผ้าฝ้ายยังไม่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมทั้งด้านการผลิตการตลาดสักเท่าไหร่ ทั้งที่ในเมืองไทย โดยเฉพาะภาคอีสานมีกลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอที่ศักยภาพสูงจำนวนไม่น้อย” น.ส.ณัฐนิชกล่าว และว่า ผ้าทออีสานเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน มีความโดดเด่นทางภูมิปัญญา การย้อมสีธรรมชาติที่มีสีสันงามตา ลักษณะของผ้าที่นุ่ม สวมใส่สบาย เราจะต้องดึงเอาจุดเด่นของ OTOP มาผสานกับรูปแบบดีไซน์และสไตล์การแต่งตัวของคนทุกช่วงวัย สามารถตอบโจทย์ประโยชน์การใช้สอยที่โดนใจคนทุกรุ่น และเราคาดหวังว่าจะต้องมีการสร้างแบรนด์ผ้าฝ้ายอีสานให้อยู่ในกระแสความนิยมของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง จนสามารถก้าวสู่ คอตตอน ออฟ ไทยแลนด์ (Cotton of Thailand) ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทยที่เทียบชั้นระดับสากล
น.ส.ณัฐนิชกล่าวอีกว่า จากการที่เรามองเห็นโอกาสทางการตลาดและเห็นศักยภาพผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่มผลิตต่างๆ ที่มีอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่น การจัดทำเวิร์กชอปครั้งนี้ เราจึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญในวงการสิ่งทอ ผ้าทอโบราณ เคหะสิ่งทอ รวมไปถึงการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์ใช้สอยทันสมัยในยุคดิจิตอลมาช่วยกันสร้างคุณค่าให้ผ้าทออีสานในโครงการ W.O.W. Esan (The wonders of weaving) โดยตั้งเป้าจะร่วมกันพัฒนา 500 แบรนด์ จัดแบ่งตลาดออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มตลาดส่งออก กลุ่มตลาดพรีเมี่ยมและกลุ่มตลาดภายในประเทศ
ตามแผนงานที่วางไว้ สำหรับผ้าทอกลุ่มแรก กลุ่มตลาดส่งออก ภายใน 180 วันหลังจากนี้เราจะให้ผู้ผลิตผ้าทออีสานส่งผลิตภัณฑ์ผ้าทอเข้าสู่กระบวนการคัดสรรเพื่อเลือกให้เหลือเพียง 9 แบรนด์, กลุ่มตลาดพรีเมียม จะคัดเลือก 100 ผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์ และสุดท้ายคือกลุ่มตลาดภายในประเทศอีก 391 ราย จะมุ่งเน้นการพัฒนาให้สามารถขายได้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้สร้างเศรษฐกิจฐานแรกให้เข้มแข็ง
“การจัดทำเวิร์กชอปอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอของภาคอีสานครั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการผลิตผ้าทอจากภาคอีสานจะได้รับความรู้ ได้รับคำแนะนำจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านอย่างเต็มที่ เพื่อดึงเสน่ห์ของผ้าทอท้องถิ่นออกมาให้โดดเด่นจนสามารถครองใจผู้บริโภค คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะเห็นพัฒนาการครั้งสำคัญของผ้าทออีสาน” น.ส.ณัฐนิชกล่าว