xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก พช.นำทีม “พช.สัมพันธ์สัญจร” ครั้งที่ 2 เพชรบุรี-ประจวบฯ ดูชุมชนท่องเที่ยว OTOP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อธิบดี พช.นำทีม “พช.สัมพันธ์สัญจร” ครั้งที่ 2 ลุย “เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์” ดูชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

วันนี้ (22 พ.ค.) นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2561 นี้กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) มีแผนจะนำทีมผู้บริหารและสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ตามโครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร” ครั้งที่ 2 เพื่อดูความคืบหน้างาน “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถี”

สำหรับพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดเพชรบุรีที่จะไปดูงานการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี คือ พื้นที่ บ้านดอนใน ตำบลแหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านและฃุมชนในหลายมิติ เช่น ด้านอาชีพมีการพัฒนาจากชาวประมงมาสู่กิจการวิสาหกิจแพปลาชุมชน และธนาคารปูม้า ด้านหัตถกรรมมีกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์ชุมชนเครื่องจักสานจากก้านธูปฤๅษี และการนำต้นชะคราม พืชประจำถิ่นที่เกิดในพื้นที่ดินเค็มมาประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม, ต้มจืดลวกกับน้ำพริก นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปเป็นขนมชะคราม ชะครามหยี สบู่ชะคราม แชมพูชะคราม ฯลฯ ส่วนการพัฒนาอาชีพยังมีกลุ่มประชาชนที่หันมาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแทนการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทุกฤดูกาลและถือเป็นอาหารสุขภาพที่กำลังมาแรงอีกด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเยือนจำนวนมาก

ในส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดการไปดูงานที่บ้านโคนมพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวซึ่งเริ่มได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะมีธรรมชาติที่งดงามของป่าละอู รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเช่นทุเรียนป่าละอู ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เม็ดลีบเล็ก เนื้อมาก รสหวาน หอม อร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีกิจการโฮมสเตย์ และกิจกรรมการเลี้ยงโคนม อาหารพื้นบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง การทอผ้าพื้นเมือง ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ พช.ในการปลุกการท่องเที่ยวระดับชุมชน ที่เรียกว่า “แอ่งเล็ก” ให้เกิดการรวมตัวขึ้นมาสร้างอาชีพที่ยั่งยืน และสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยใช้นวัตกรรมบวกกับวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ผสมผสานเข้ากับประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมเยือน โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 2 แสนล้านบาท และได้ทุ่มงบกลางปี 61 กว่า 8,344 ล้านบาท เป็นการนำร่องแผนท่องเที่ยวแก้จนในพื้นที่ 3,273 หมู่บ้าน และพัฒนาสินค้าอยู่ดีกินดี 64,570 ผลิตภัณฑ์ เชื่อมั่นว่าตามแผนนี้จะทำให้ช่วยปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทั่วไปไทยได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้จากโครงการพัฒนาชุมชนโอทอป นวัตวิถีมีหลายประการคือ ส่วนแรกชุมชนเกิดความเข้มแข็งขึ้น ทุกหมู่บ้านต้องลุกขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ให้สะอาด น่าอยู่ ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว ส่วนที่ 2 คือ รายได้ในชุมชนหมู่บ้านจะเริ่มเปลี่ยนไป จะมีการกระจายไปสู่ทุกคนในชุมชน ส่วนข้อแตกต่างของความเป็นโอท็อปชุมชน แบบดั้งเดิมกับ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีคือ แบบดั้งเดิมนั้นรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยชุมชนในทุกๆ ด้าน แต่ถ้าเป็นแบบนวัตวิถี คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน ช่วยกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี นำภูมิปัญญา เสน่ห์พื้นบ้านมาหลอมรวมสร้างสรรค์จุดขายให้แก่นักท่องเที่ยว และร่วมกันหาวิธีสร้างความประทับใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวซ้ำๆ และเป็นการกระจายรายได้ให้คนทุกอาชีพในชุมชนได้อย่างทั่วถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น