xs
xsm
sm
md
lg

พบ 241 หมู่บ้าน/ชุมชน จาก 8 หมื่นแห่ง ไม่ขอรับเงิน 2 แสน “ไทยนิยม ยั่งยืน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดตัวเลขผลการรวบรวม ตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” หลัง ฝ่ายปกครองระดับอำเภอ รายงาน มหาดไทย ขอสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ พบ 241 หมู่บ้าน/ชุมชน จาก 80,214 หมู่บ้าน/ชุมชน ไม่ขอรับเงิน 2 แสนบาท

วันนี้ (26 พ.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการปกครอง ได้รับรายงานผลการรวบรวมความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ที่รายงานมาแล้ว 78,625 หมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) จากฝ่ายปกครองระดับอำเภอ ต่อโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ในส่วนของงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ (หมู่บ้าน/ชุมชน ละ 2 แสนบาท)

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกประเภทโครงการเบื้องต้นไว้ 6 ประเภท ได้แก่ 1. สร้างอาชีพ สร้างรายได้ 2. แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3. สาธารณูปโภค 4. สาธารณสุข 5. สิ่งแวดล้อม และ 6. อื่นๆ จาก 78,625 หมู่บ้าน/ชุมชน หรือร้อยละ 98.02 จากยอดทั้งสิ้น 80,214 หมู่บ้าน/ชุมชน

“พบว่า 241 หมู่บ้าน/ชุมชน หรือ ร้อยละ 0.31 ไม่เสนอขอรับการสนับสนุนหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 2 แสนบาท ขณะที่เสนอขอสนับสนุนเพียง 1 โครงการ จำนวน 68,594 หมู่บ้าน/ชุมชน หรือ ร้อยละ 87.24 และ เสนอขอสนับสนุนครบ 2 โครงการ จำนวน 9,790 หมู่บ้าน/ชุมชน หรือ ร้อยละ 12.45”

ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่า หมู่บ้าน/ชุมชน จะเสนอโครงการมากว่า 87,473 โครงการ เป็นด้านสาธารณูปโภคสูงสุดถึง 69,539 โครงการ หรือร้อยละ 86.70 รองลงมาเป็นเรื่องของการสร้างอาชีพ/สร้างรายได้ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ฯลฯ

มีรายงานว่า สำหรับหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่เสนอขอรับการสนับสนุนหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 2 แสนบาท ส่วนใหญ่ติดปัญหา 11 ข้อห้าม ที่ประกอบด้วย ห้ามนำงบประมาณไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชน หรือในลักษณะกองทุนหมุนเวียน ห้ามนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ/กิจกรรม โดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแบ่งเงิน สิ่งของ ให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน

ห้ามนำไปใช้ในลักษณะให้ประชาชนกู้ยืม ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ ไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อจะดำเนินการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ดำเนินการที่เป็นสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมายก่อนดำเนินโครงการ

ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม เกี่ยวกับศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการ ยกเว้น การดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการเป็นที่ตั้งโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้มีอำนาจในสถานที่นั้นๆ ก่อน ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้น ซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในที่สาธารณประโยชน์ หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์

ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์จำเป็นเพื่อประกอบโครงการและจะต้องจัดทำแผนการใช้งาน บำรุงรักษาและมีคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน หรือคณะกรรมการกลุ่ม หรือคณะกรรมการบริหารโครงการรับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

รวมทั้งห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์ หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร (เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) กล้องวงจรปิด แผงโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วและเครื่องออกกำลังกานที่ใช้พลังงานไฟฟ้า”

“อย่างไรก็ตาม ในเวทีขับเคลื่อน ครั้งที่ 4 ตามกรอบ 120 วัน หลังจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ. 2561 จำนวน 1 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ โดยระหว่างลงพื้นที่ วันที่ 25 พ.ค. นี้ ทีมงานขันเคลื่อนจะนำข้อมูลไปแจ้งให้กับ ชุมชน/ชาวบ้าน รับทราบ และดำเนินการตามกรอบที่รัฐบาลกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น