ปภ. รับ เบิกจ่ายปี 61 จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ 1.7 พันล้าน ล่าช้า เหตุติดปัญหาต้องเปิดเสนอราคา รอบสอง ย้ำ สัญญาติดปัญหาส่งมอบครุภัณฑ์จากต่างประเทศ ต้องใช้ระยะเวลาส่งมอบ 240 - 300 วัน ทำให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เผย ปภ. เดินหน้าต่อประกวดราคา วงเงินเท่าเดิม 1.7 พันล้าน หลังยกเลิกครั้งแรก เหตุเอกชนเสนอสูงกว่าราคากลาง 130 ล้าน ส่วน โครงการซ่อมแซมศาลาว่าการมหาดไทย 70 ล้าน รอบแรกล้ม! เหตุเสนอราคารายเดียว แถมไม่ผ่านคุณสมบัติ
วันนี้ (21 พ.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนกรมป้องกันสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้รายการความคืบหน้าโครงการการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย วงเงินรวม 1,732,000,000 บาท ให้กับที่ประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะงบประมาณ ปี พ.ศ. 2561 ผูกพันงบประมาณ จำนวน 160,380,000 บาท
โดย โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ในส่วนของงบผูกพัน ปี 2561 ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้อีก 60 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง ปภ. ได้ทำการเสนอราคาครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา หากผลการดำเนินการอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร คาดว่า จะก่อหนี้ผูกพันได้ภายในเดือน พ.ค. 2561
“สำหรับเหตุผลที่เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เนื่องจากอยู่ระหว่างเบิกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้า ร้อยละ 15 (60 ล้านบาท) ตามสัญญาจ้าง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 85 (100 ล้านบาท) อาจจะติดปัญหาส่งมอบครุภัณฑ์ ซึ่งจัดซื้อจากต่างประเทศต้องใช้ระยะเวลาในการส่งมอบประมาณ 240 - 300 วัน จึงทำให้การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”
สำหรับ โครงการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (เฮลิคอปเตอร์) ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เริ่มต้นในสมัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หลังจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ วงเงินที่รับการจัดสรร 1,732,000,000 บาท ในลักษณะของการผูกพันงบประมาณระยะ 3 ปี (2560 - 2562) สำหรับใช้ในภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน กู้ภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานความร่วมมือกับกองทัพบก ในรูปแบบที่ ปภ.เสนอขอจัดตั้งงบประมาณดำเนินการจัดหาตามระเบียบพัสดุฯ และใช้ประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนของกองทัพบกให้การสนับสนุนการเตรียมนักบิน การซ่อมการซ่อมบำรุง และการดูแลอากาศยาน
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการ ปภ.มีแนวทางการจัดหา 2 แนวทาง คือ 1. แจ้งข้อมูลความต้องการในการจัดหาไปยังบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ทั้งจากประเทศสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และ รัสเซีย 2. ทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานสถานทูตไทยที่อยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เพื่อให้แจ้งข้อมูลและเชิญชวนผู้ผลิตและจำหน่ายเข้าร่วมการเสนอราคา พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮลิคอปเตอร์จากกองทัพบก กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบุคลากรของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมเป็นกรรมการ โดยคณะกรรมการได้จัดทำ TOR ในลักษณะที่เปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และได้จัดทำราคากลาง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด พร้อมทั้งได้เผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคา รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ และราคากลาง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งไม่มีบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายใดแสดงการคัดค้านหรือโต้แย้งในคุณลักษณะที่กำหนด
มีรายงานว่า เมื่อปลายปี 2560 มีการเชิญชวนให้บริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายเข้าร่วมการเสนอ ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลางและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่มีการยกเลิกประกวดราคาครั้งแรก หลังจากเอกชนรายหนึ่งเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง 130 ล้านบาท
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ ได้ออกประกาศ ประกวดราคาซื้อโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. กับกองทัพบกในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter) เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จำนวน 2 ลำ (ครั้งที่ 2) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding ) กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 9 พ.ค.2561 การประกวดราคาในครั้งนี้ ปภ.กำหนดราคากลางเท่าเดิมคือ 1,732 ล้าน บาท (ราคาต่อลำ 866 ล้านบาท) โดยอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจากเอกชน 2 รายเดิม คือ บริษัท ดาต้าเกท จำกัด และ บริษัท ไรโซโบโรน เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด
มีรายงานด้วยว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าในโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 70 ล้านบาท ของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย ค่าปรับปรุงระบบระบายความชื้น อาคารศาลาว่าการฯ วงเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าปรับปรุงพื้นที่จากอธิบดีกรมศิลปากร ค่าปรับปรุงอาคารรวม วงเงิน 17 ล้านบาท อยู่ระหว่างกรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดราคากลาง ครั้งที่ 2 เนื่องจากครั้งที่ 1 มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวและไม่ผ่านคุณสมบัติจึงยกเลิกการประกวาราคา
“ในส่วนของค่าปรบปรุงภูมิทัศน์ รอบๆ ศาลาว่าการฯ วงเงิน 18.2 ล้านบาท อยู่ระหว่าง กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดราคากลางครั้งที่ 2 เองจากครั้งที่ 1 ไม่มีผู้เสนอราคาจึงทำให้ยกเลิกประกวดราคา”