“ธีระชัย” ชี้ แบงก์ชาติขาดทุน 9 แสนล้านบาท ไม่น่าห่วง ระบุ สถานการณ์ตรงข้ามกับวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นแค่การขาดทุนทางบัญชีที่เข้าไปรับซื้อดอลล่าร์ตั้งเป็นทุนสำรองสูง เพื่อกดค่าเงินบาทให้อ่อนลง เพื่อรักษาความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจลงทุนและนำเข้า
วันนี้ (7 พ.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ชี้แจงแทนแบงก์ชาติ ระบุ การขาดทุน จำนวน 9 แสนล้านบาท เป็นแค่การขาดทุนทางตัวเลขบัญชี และเกิดจากการมีทุนสำรองดอลล่าร์มีมาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
“ขาดทุนแบงก์ชาติไม่น่าตกใจ”
คุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งผมเคารพนับถือ ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับขาดทุนของแบงก์ชาติ 900,000 ล้านบาท
ถึงแม้ผมเองไม่ปลื้มกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. (ซึ่งบทความโดย สิริอัญญา เรียกว่า “ตาอยู่”) เอาเสียเลย แต่ก็เห็นว่าสมควรให้ข้อมูลแก่สังคมดังต่อไปนี้
1. สถานการณ์ที่แบงก์ชาติขณะนี้กลับทางกับต้มยำกุ้ง
ในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง แบงค์ชาติผูกเงินบาทกับตะกร้าที่มีสัดส่วนดอลลาร์สหรัฐฯสูงมาก ปรากฏว่าดอลลาร์แข็ง พาให้เงินบาทแข็งไปด้วย ในเวลาเดียวกัน แบงก์ชาติเปิด BIBF ทำให้เอกชนคนไทยกู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์อย่างกว้างขวาง ทำให้พ่อมดการเงินอย่าง จอร์จ โซรอส และพวก วิเคราะห์ได้ว่า ระบบตะกร้าจะอยู่ไม่ได้ จึงรุมโจมตีเงินบาท
ในขณะนั้น มีวิกฤตระบบบริษัทเงินทุนที่ยังแก้ไขไม่จบ แบงก์ชาติพยายามผลักดันให้ควบรวม 5 แกน และจะยกระดับเป็นแบงก์ แต่ยังไม่สำเร็จ ในระหว่างหาทางแก้ปัญหาสถาบันการเงิน แบงก์ชาติจึงยังไม่สามารถเปลี่ยนระบบตะกร้าได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทุนสำรองออกไปเพื่อสู้กับนักเก็งกำไรค่าเงิน สำรองที่เดิมมีอยู่ 3 - 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือไม่ถึง 2 พันล้าน สุดท้ายจึงต้องกู้ IMF
ทั้งนี้ ตัวเลข 1.4 ล้านล้านบาทในคอลัมน์นั้น ไม่ใช่ขาดทุนแบงก์ชาติ แต่เป็นขาดทุนในระบบแบงก์พาณิชย์และบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดกิจการ และรัฐบาลขณะนั้นตัดสินใจอุ้มผู้ฝากเงิน 1.4 ล้านล้านบาท มิให้ได้รับความเสียหาย
แต่มาวันนี้ ปัญหาขาดทุนของแบงก์ชาติ ไม่ได้เกิดจากการเข้าไปต่อสู้กับนักเก็งกำไรในตลาดสากล แต่เกิดจากประเทศไทยมีสำรองมาก ร่วมสองแสนล้านดอลล่าร์ และเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
2. ขาดทุนเกิดจากมีสำรองมาก
ขาดทุนแบงก์ชาติขณะนี้ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร หรือจากซื้อๆ ขายๆ เงินตราต่างประเทศ หรือจากซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเล่นหุ้น แต่เกิดจากการมีสำรองมาก
อธิบายง่ายๆ ตัวอย่างมีสำรองสองแสนล้านดอลลาร์ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเทียบกับดอลล่าร์ 1 บาท แบงก์ชาติก็จะมีขาดทุนทางบัญชี 200,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกัน ค่าเงินบาทอ่อนลงเทียบกับดอลลาร์ 1 บาท แบงก์ชาติก็จะกลับมีกำไรทางบัญชี 200,000 ล้านบาท
ถ้าคิดว่า กำไรหรือขาดทุนทางบัญชีของแบงค์ชาติไทยเป็นปัญหาใหญ่โตแล้ว ลองเทียบกับประเทศจีนซึ่งมีทุนสำรองหลายล้านล้านดอลลาร์ ผลกำไรและขาดทุนก็จะเป็นตัวเลขใหญ่โตมหาศาลกว่านี้มากมาย
3. มีสำรองมาก เนื่องจากพยายามกดค่าเงินบาท
สำรองที่มีเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ นั้น เกิดจากแบงก์ชาติพยายามที่จะกดค่าเงินบาท มิให้แข็งขึ้น วิธีการกดค่าเงินบาท ก็คือเมื่อมีดอลลาร์ไหลเข้า อันจะทำให้เงินบาทแข็งขึ้น แทนที่แบงค์ชาติจะปล่อยให้เอกชนเป็นคนซื้อดอลลาร์เหล่านี้ แบงค์ชาติก็ต้องเข้าไปรับซื้อดอลล่าร์เอง
เมื่อแบงก์ชาติรับซื้อดอลลาร์แล้ว ดอลลาร์ก็จะเข้ามาเป็นทุนสำรองที่แบงก์ชาติ ดังนั้น ยิ่งมีมาตรการกดเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเท่าไหร่ แบงก์ชาติก็ยิ่งต้องเข้าไปซื้อดอลล่าร์มากเท่านั้น และยิ่งทำให้สำรองเพิ่มขึ้น
การมีสำรองมากนั้น นอกจากแบงค์ชาติจะมีกำไรหรือขาดทุนทางบัญชี จากการที่เงินบาทแข็งขึ้น หรืออ่อนลง เทียบกับดอลลาร์แล้ว แบงก์ชาติยังจะมีขาดทุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
เนื่องจากในมาตรการเพื่อที่จะกดเงินบาทไม่ให้แข็งขึ้นนั้น เมื่อแบงก์ชาติซื้อดอลล่าร์เข้ามาเป็นทุนสำรอง แบงก์ชาติก็ต้องออกพันธบัตรเป็นเงินบาท เพื่อจะดูดเงินกลับ และที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเงินบาทที่แบงก์ชาติต้องจ่าย มักจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสกุลดอลลาร์ ที่แบงก์ชาตินำทุนสำรองไปลงทุน ดังนั้น การมีทุนสำรองมาก จึงทำให้แบงค์ชาติมีภาระส่วนต่างดอกเบี้ยตรงนี้อีกด้วย
4. แบงก์ชาติควรเลิกพยายามกดค่าเงินบาทหรือไม่?
ในประเทศพัฒนาแล้ว แบงค์ชาติของเขามักจะไม่พยายามที่จะเข้าไปแทรกแซงเกี่ยวกับค่าเงินของตนมากนัก กล่าวคือ มักจะปล่อยให้ค่าเงินของตนเองเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาดอย่างแท้จริง ส่วนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องบริหารจัดการดูแลตนเอง ถ้าเอกชนรายใดไม่สามารถรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ ก็จะสามารถซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากแบงก์พาณิชย์ได้
นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมประเทศที่พัฒนามากกว่าประเทศไทยหลายประเทศ มีสำรองในมือแบงก์ชาติของเขาไม่มากนัก เพราะเขาไม่จำเป็นต้องใช้สำรองในการบริหารจัดการค่าเงินของเขานั่นเอง แต่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเอเซียที่เน้นการส่งออก มักจะใช้ในโยบายเข้าไปดูแลค่าเงินของตนเองมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
ถามว่าประเทศไทยควรจะเลิกความพยายามที่จะกดค่าเงินบาทไม่ให้แข็งขึ้น แล้วปล่อยให้ภาคเอกชนรวมไปถึงเกษตรกร ต้องรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเองหรือยัง?
ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวโดยเสรีเต็มที่ เนื่องจากเมื่อค่าเงินบาทแข็งตัว การที่จะส่งออกได้ดีนั้น ผู้ผลิตสินค้าของไทยจะต้องสามารถทำให้มูลค่าเพิ่มในสินค้าสูงขึ้น เท่ากับค่าเงินบาทที่แข็งตัว เช่น ออกแบบสินค้าให้สวยหรูขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปในตัวสินค้ามากขึ้น ทำสินค้าเกษตรให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นต้น แต่การปรับตัวของผู้ผลิตในไทยนั้น จะต้องให้เวลา เพราะจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5. จะต้องแก้ไขขาดทุนนี้หรือไม่?
ปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว เริ่มแรงขึ้นนับแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนาต้องกดดอกเบี้ยลงต่ำ และทำให้เงินทุนไหลออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย เงินทุนเหล่านี้กดดันให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาแข็งขึ้นเทียบกับดอลลาร์ บีบบังคับให้แบงก์ชาติไทยต้องเข้าไปซื้อดอลล่าร์เก็บไว้เป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นๆ
แต่ในขณะนี้ สถานการณ์กำลังกลับทางแล้ว โดยธนาคารกลางของประเทศสหรัฐได้เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้วระยะหนึ่ง และจะขึ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ และเมื่อส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐสูงขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ก็จะทำให้เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้นมาตลอด จะค่อยเปลี่ยนกลับเป็นอ่อน
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาสองสามปี การลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นน้อยมาก ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชนได้ และมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง ก็จะมีการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และจะลดการเกินดุลการค้าของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้แรงกดดันให้เงินบาทแข็งขึ้นนั้นหมดไปด้วย
แล้วเมื่อใดที่เงินบาทกลับอ่อน ตัวสำรองที่ตีราคาเป็นเงินบาท ก็จะกลับมาเป็นกำไรในอนาคต
ในระหว่างนี้ ขอให้รัฐบาล คสช. หาทางแก้ปัญหาระดับการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำเตี้ยมาตั้งแต่การปฏิวัติให้ได้ก็แล้วกัน
วันที่ 7 พฤษภาคม 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
.................................................................