ฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส มองทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ของปี 2561 จะผันผวนสูงในทิศทางอ่อนตัวลง ประเมิน SET Index เคลื่อนไหวในกรอบ 1,787-1,839 จุด โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากภายนอก ทั้งเรื่องกีดกันการค้าสหรัฐฯ-จีน แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น และแรงขายจาก Fund Flow ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยภายในประเทศที่กดดัน กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นหุ้นที่เติบโตแข็งแกร่ง และหุ้นที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมา
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส หรือ ASP กล่าวว่า นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และการทำสงครามการค้าผ่านการตั้งกำแพงภาษี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการค้าโลกปีนี้ชะลอตัวลง รวมทั้งความผันผวนของค่าเงิน จะทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่า ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นข้อจำกัดต่อภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ ทำให้การเติบโตไม่โดดเด่นเท่าปีที่แล้ว ดังนั้น ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2561 น้ำหนักจะไปอยู่ที่การลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก
“แม้ว่า EPS Growth ของหุ้นไทยปีนี้ จะสูงถึง 14.8% แต่มีหลายปัจจัยเข้ามากดดันตลาด โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันการค้า ทำให้ความเสี่ยงจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น ดูจาก PER และ PEG ของไทยเอง สูงใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่แพง ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า SET จึงมีโอกาสแกว่งตัวลง”
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกในปีนี้ เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต่างทยอยเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัว ผลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ยกเว้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่น่าจะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป โดยไทยนั้น เชื่อว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และน่าจะเริ่มปรับขึ้น 0.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง
สำหรับกระแส Fund Flow ในไตรมาส 2 นี้ คาดว่าแรงขายยังมีต่อเนื่อง แต่จะเริ่มชะลอลง หลังจากที่ต่างชาติขายหุ้นไทยติดต่อกันมาตลอด หากนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556 จนถึงปัจจุบัน ขายรวมกันแล้วกว่า 4.45 แสนล้านบาท ซึ่งสถิติในอดีต พบว่า 7 ใน 10 ปี ต่างชาติมักขายสุทธิหุ้นไทยในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม จากแรงขายที่เข้ามาเร็วและแรงช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าซื้อสะสมสุทธิหุ้นไทยตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เหลือเพียง 2.94 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เป็นระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิสูงสุดที่ 4.69 แสนล้านบาท ณ วันที่ 15 มี.ค. 2556 จึงเชื่อว่าจากนี้ไป แรงขายน่าจะเริ่มจำกัด โดยในไตรมาส 2 นี้ ยังจะมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุน ที่รอหุ้นปันผล
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 นี้ ยังจะมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุน ที่รอรับปันผลสำหรับผลประกอบการงวดครึ่งหลังปี 2560 ด้วย โดยจะมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 329 บริษัท ซึ่งมีโอกาสกดดัน SET Index ให้ปรับตัวลงได้ราว 25.6 จุด หรือ 1.4% แยกเป็นเดือน มี.ค. ราว 10.2 จุด, เดือน เม.ย. ราว 9.38 จุด และเดือน พ.ค. ราว 5.6 จุด
ขณะที่ในส่วนของปัจจัยการเมืองในประเทศมองว่า ตลาดยังมีความกังวล และเฝ้าติดตามประเด็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในประเทศว่าจะจัดเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 ได้หรือไม่ แต่จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด ยังเชื่อว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่เกินเดือน ก.พ. 2562
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ฝ่ายวิจัยฯ ประเมิน SET Index จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,787-1,839 โดยอิงกับค่า P/E ที่ราว 17-17.5 เท่า ท่ามกลางตลาดหุ้นที่มีความผันผวน และมีโอกาสอ่อนตัวลง จึงแนะนำให้เลือกลงทุนหุ้นรายตัว ที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เน้นหุ้นที่แนวโน้มผลประกอบการเติบโตดี ผันผวนต่ำ และราคายังไม่กลับขึ้นมา (laggard) โดยในปี 2561 คาดกำไรสุทธิของตลาด จะอยู่ที่ราว 1.12 ล้านล้านบาท และ EPS (กำไรสุทธิต่อหุ้น) อยู่ที่ 112.39 บาทต่อหุ้น ขณะที่ EPS Growth สูงถึง 14.8% เทียบจากปีก่อน ภาพรวมแล้วผลประกอบการของ บจ. ในปีนี้ ยังคงเติบโตดี