“ประวิตร” สั่ง ผบ.ทบ. ประสาน ยธ. ทำคู่มือปฏิบัติ ดูแลม็อบคนอยากเลือกตั้ง พฤษภาคมนี้ ป้องกันปัญหากระทบกระทั่งบานปลาย ขณะที่หน่วยงานความมั่นคง เกาะติดปลุกกระแสพฤษภาทมิฬ ชี้สถานการณ์คนละเงื่อนไข
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวผลการประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ กองทัพบก โดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดทำคู่มือใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายหรือตามคำสั่งของ คสช. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานมีขั้นตอนการปฏิบัติตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับประชาชนมุ่งเน้นการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก โดยมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ การปฏิบัติต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยให้ประสานงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมอย่างใกล้ชิดต่อการจัดทำแนวทางปฏิบัติดังกล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า ส่วนการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในวันที่ 5 พ.ค. นี้ จะปฏิบัติเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เมื่อถามย้ำว่า คู่มือใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า จะทำโดยเร็วที่สุด ให้ประสานกับกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่พึงปฏิบัติที่ต้องทำให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย
ส่วนที่มีความกังวลว่า มีความพยายามปลุกกระแสทำให้เหตุการณ์เหมือนพฤษภาทมิฬ นั้น เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดมาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว ขณะนี้ปี 2561 คิดว่าเป็นคนละเงื่อนไข ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงก็ติดตามดูแลเรื่องนี้อยู่
“คู่มือดังกล่าวป้องกันเรื่องการกระทบกระทั่ง ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ดังนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องมีความเข้าใจในขอบเขตของกฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่ในฐานะผู้ปฏิบัติและประชาชนก็ต้องเข้าใจกรอบกฎหมาย รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่ก้าวล่วงถึงเป็นเรื่องที่นายกให้ความห่วงใยกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน เพราะฉะนั้นเป็นการทำงานร่วมกันและคู่มือดังกล่าวออกมาก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ระดับที่ทำงานในระดับพื้นที่มีความเข้าใจถึงขั้นตอนในการปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก เนื่องจากทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูล และทำความเข้าใจร่วมกัน รวมถึงผลบังคับใช้กฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องบาดเจ็บ ก้าวล่วงสิทธิมนุษยชน ความไม่เข้าใจกฎหมายระหว่างกัน” พล.ท.คงชีพ กล่าว
พล.ท.คงชีพ ย้ำว่า ทั้งนี้ หากผู้ชุมนุมไม่ให้ความร่วมมือทำตามคู่มือดังกล่าว เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ โดยจะมีขั้นตอนปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งสถานการณ์จะพัฒนาไปจากเบา เช่น แจ้งเตือน ฉีดน้ำ หรือ มาตรการอื่นๆ ตามลำดับ ส่วนที่กังวลจะเกิดการกระทบกระทั่งนั้น ยืนยันว่า การปฏิบัติดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากล ทุกประเทศดำเนินการ