สัมมนาผู้ตรวจการแผ่นดิน แจงหน่วยงานรัฐพร้อมร่วมทำงานเชิงกัลยาณมิตร ปัดจับผิด แต่มุ่งแสวงหาทางออก “มีชัย” ยกเป็นพระมาลัย คอยชี้แนะหน่วยงานรัฐแก้ปัญหา ปชช.ให้ถูกต้อง เชื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการได้
วันนี้ (25 เม.ย.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สัมมนา “ผู้ตรวจการแผ่นดิน : องค์กรเพื่อรัฐและเพื่อประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” เพื่อชี้แจงถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หน่วยงานอิสระ และสถาบันการศึกษาจำนวน 700 คนที่เข้าร่วมประชุม
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รักษาราชการแทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงยึดหลักความเป็นกัลยาณมิตร ไม่ได้มุ่งหมายจับผิดหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ แต่มุ่งหวังแสวงหาทางออกแก้ไขความเดือดร้อนอย่างเป็นระบบ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุน ให้คำแนะนำเพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ประกอบด้วย 1. เสนอแนะหน่วยงานรัฐให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรื อความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน 2. แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม จากการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ และ 3. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งโดยคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสถานที่พื้นที่ใดๆ ได้ก็จะทำให้การติดตามผลการวินิจฉัยมีประสิทธิภาพคิดว่าเป็นมิติใหม่ที่ สามารถทำให้หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนกรณีหน่วยงานรัฐไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีโทษทางอาญา
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการกำหนดเปลี่ยนบทบาทการทำงานผู้ ตรวจการแผ่นดินใหม่ ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ไม่ใช่ลักษณะยักษ์ถือกระบอง เพราะจะทำให้หน่วยงานภาครัฐเกิ ดความเกลียดกลัวตั้งแต่ เริ่มต้น จุดมุ่งหมายคือให้ใช้กลไกในลักษณะเป็นกัลยาณมิตร มากกว่าการมุ่งไปเอาผิด ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องปรับรูปแบบการทำงาน โดยใช้กระบวนการปรึกษาหารือให้มากขึ้น ต้องมองภาพกว้าง มุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปั ญหาของประชาชนโดยรวม มากกว่าการแก้ทุกข์ให้แก่คนคนเดียวโดยเฉพาะการตรวจสอบกฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญวางหลักไว้หรือไม่ คิดว่าใน 1 ปี ทำได้ 10 เรื่องก็ถือว่าเกินคุ้ม เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก ส่วนการรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีต้องทำกระชับ ชี้ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้ประชาชนรู้ว่าเกิดปัญหาอะไรในบ้านเมือง และทำให้เกิดการรับรู้ เชื่อว่าประชาชนจะส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของผู้ ตรวจการแผ่นดิน
“เราพยายามกันผู้ตรวจออกมาจากภาพความเป็นยักษ์ ไม่ให้กระบองผู้ตรวจ แต่ให้บทกฎหมายลงโทษเลย หากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดเอง ก็จะต้องรับโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ตรวจการแผ่นดินไปลงโทษ เพราะกฎหมายกำหนดตายตัว ดังนั้น ผู้ตรวจจึงเป็นเหมือนพระมาลัยเพื่อไปช่วยเตือนหน่วยงานของรัฐว่าจะครบเวลาแล้วแก้ไขให้เขาหรือยัง กระบองที่ให้จึงเป็นออโตเมติก หากถึงจุดที่ทำผิดขั้นตอนก็มีผลของมันเอง ดังนั้นไม่ต้องไปกังวลว่าผู้ตรวจจะเป็นยักษ์เป็นมาร”
นอกจากนี้ เชื่อว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานเดียวที่จะแก้ปัญหาระบบราชการ ดังนั้นจึงควรหันมาทำงานด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะการปฏิรูปประเทศให้ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้เลย หากไม่แก้ระบบราชการ โดยเฉพาะระบบงานสารบัญ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างๆ มีหนังสือให้เซ็นต์จำนวนมากจนไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น
ขณะที่นายสรุชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 บรรยายพิเศษ หัวข้อ “มุมมองและความคาดหวังของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมามีการสรรหากรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน หลายคนตั้งคำถามว่าทำไม สนช.ชุดนี้มีตั้งกฎเกณฑ์ในการพิจารณามากเกินไป ยืนยันว่าเราได้ทำหน้าที่บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะการให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้คำนึงเพียงแค่เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แต่คำนึงถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ เพราะบทบาทและหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม กำหนดให้ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น